Aller au contenu principal

ฟุตบอลทีมชาติเวลส์


ฟุตบอลทีมชาติเวลส์


ฟุตบอลทีมชาติเวลส์ (เวลส์: Tîm pêl-droed cenedlaethol Cymru) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนของประเทศเวลส์ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ บริหารงานโดยสมาคมฟุตบอลเวลส์ (FAW) และเป็นสมาชิกของยูฟ่า

แม้ประเทศเวลส์จะไม่ใช่ดินแดนที่เป็นรัฐเอกราช โดยมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร แต่ก็มีสมาคมฟุตบอลและทีมชาติเป็นของตนเอง โดยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติในรายการสำคัญๆทุกรายการของฟีฟ่าและยูฟ่า อย่างไรก็ตามสำหรับการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก ประเทศในเครือสหราชอาณาจักรอันประกอบไปด้วยอังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือต้องรวมทีมกันลงแข่งขันภายใต้ชื่อของสหราชอาณาจักร

ทีมชาติเวลส์จัดเป็นฟุตบอลทีมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอันดับที่ 3 รองจากทีมชาติอังกฤษและทีมชาติสก็อตแลนด์ แต่เคยผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในรายการสำคัญๆ เพียงแค่ 3 ครั้งคือฟุตบอลโลกปี 1958 ที่ประเทศสวีเดน, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020​ โดยทีมชาติเวลส์มีฉายาที่ตั้งขึ้นโดยสื่อมวลชนกีฬาในประเทศไทยว่า มังกรแดง

โดยผลงานดีที่สุดในระดับชาติที่ทีมชาติเวลส์เคยทำได้คือการผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1958 และผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016

ส่วนในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนยุโรป เวลส์ตกรอบคัดเลือกโดยมีคะแนนตามหลังทีมชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งอยู่อันดับ 2 เพียงแค่ 2 คะแนน อย่างไรก็ตามเวลส์สามารถผ่านเข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้ายในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020​ ได้สำเร็จ

การจัดอันดับโลกของฟีฟ่าที่ทีมชาติเวลส์เคยทำได้สูงสุดคืออันดับที่ 8 (ตุลาคม 2015) ภายใต้การคุมทีมของ คริส โคลแมน โดยในเดือนกันยายน 2015 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ เวลส์ กลายเป็นทีมชาติที่มีอันดับโลกดีที่สุดในบรรดาทีมชาติในสหราชอาณาจักร

ประวัติ

ช่วงแรก

ทีมชาติเวลส์ลงแข่งขันฟุตบอลเป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1876 โดยเป็นการแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติสก็อตแลนด์ ที่สนามแฮมิลตัน เครสเซนต์ ซึ่งเป็นสนามของทีมคริกเก็ตในเมืองกลาสโกว์ ทำให้เวลส์เป็นทีมฟุตบอลทีมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอันดับที่ 3 รองจากทีมชาติอังกฤษและทีมชาติสก็อตแลนด์ โดยการแข่งขันในนามทีมชาติเป็นครั้งแรกของเวลส์จบลงด้วยการแพ้สก็อตแลนด์ถึง 4–0

ปีต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1877 ทีมชาติเวลส์และทีมชาติสก็อตแลนด์ กลับมาแข่งกันอีกครั้งที่สนามเรสคอส กราวน์ เมืองเร็กซ์แฮม ประเทศเวลส์ โดยถือเป็นการเล่นในฐานะเจ้าบ้านเป็นครั้งแรก และสก็อตแลนด์เอาชนะไปได้อีกครั้งด้วยผล 2–0

ทีมชาติเวลส์มีโอกาสลงแข่งขันกับทีมชาติอังกฤษเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1879 ที่สนามดิ โอวัล ในกรุงลอนดอน และเป็นฝ่ายแพ้ไป 2–1

ปี ค.ศ. 1882 ทีมชาติเวลส์ได้ลงแข่งกับทีมชาติเกาะไอร์แลนด์เป็นครั้งแรก ที่เมืองเร็กซ์แฮม และชนะไป 7–1 (ในสมัยนั้นเกาะไอร์แลนด์ยังไม่ได้แยกเป็นไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์)

สมาคมฟุตบอลเวลส์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของฟีฟ่าครั้งแรกในปี ค.ศ. 1906 แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักระหว่างฟีฟ่าและสมาคมฟุตบอลของประเทศในเครือสหราชอาณาจักร ทำให้สมาคมฟุตบอลเวลส์ถูกถอดถอนออกจากการเป็นสมาชิกของฟีฟ่าในปี ค.ศ. 1928 ทำให้ไม่มีสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 1930 ซึ่งเป็นการจัดฟุตบอลโลกสมัยแรก และในอีก 2 ครั้งต่อมา

โดยการเดินทางออกไปแข่งขันภายนอกสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกของทีมชาติเวลส์ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1933 เมื่อนักฟุตบอลทีมชาติเวลส์เดินทางไปที่กรุงปารีส เพื่อลงแข่งขันกับทีมชาติฝรั่งเศส ในวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งผลจบลงด้วยการเสมอกัน 1–1 และ วอลเตอร์ ร็อบบินส์ กองหน้าสังกัดสโมสรเวสต์บรอมมิช อัลเบียน ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสมาคมฟุตบอลเวลส์ว่าเป็นนักฟุตบอลทีมชาติคนแรกที่ยิงประตูได้ในการแข่งขันนอกสหราชอาณาจักร

หลังจบสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1946 สมาคมฟุตบอลเวลส์ได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกของฟีฟ่าอีกครั้ง พร้อมๆกับสมาคมฟุตบอลของประเทศในเครือสหราชอาณาจักรอื่นๆ และลงแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1950 แต่ทีมชาติเวลส์จบอันดับสุดท้ายของกลุ่ม

อย่างไรก็ตามในยุค 50 ถือเป็นยุคทองของทีมชาติเวลส์ เมื่อทีมชาติในยุคนั้นอุดมไปด้วยดารานักเตะดังๆแทบจะทั้งทีมเช่น อิวอร์ ออลเชิร์ช, คลิฟฟ์ โจนส์, เทรเวอร์ ฟอร์ด และ จอห์น ชาร์ลส์

ฟุตบอลโลก 1958

ทีมชาติเวลส์ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกและครั้งเดียวในฟุตบอลโลก 1958 ที่ประเทศสวีเดน ภายใต้การคุมทีมของ จิมมี่ เมอร์ฟี่ โดยในรอบแบ่งกลุ่มถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 3 ร่วมกับทีมชาติสวีเดน ที่เป็นเจ้าภาพ ,ทีมชาติฮังการี และทีมชาติเม็กซิโก

โดยการแข่งฟุตบอลโลกนัดแรกในประวัติศาสตร์ของทีมชาติเวลส์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1958 ที่สนามเจิร์นวัลเล่น เมืองแซนด์ไวเค่น เป็นการแข่งขันในรอบแรกระหว่างทีมชาติฮังการี และ ทีมชาติเวลส์ ผลจบลงด้วยการเสมอกันไป 1–1 ฮังการีได้ประตูขึ้นนำก่อนจากโจเซฟ บอสซิก ส่วนเวลส์ตีเสมอได้จาก จอห์น ชาร์ลส์ กองหน้าสังกัดยูเวนตุส ทำให้จอห์น ชาร์ลส์ ถูกบันทึกว่าเป็นนักเตะทีมชาติคนแรกของเวลส์ที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลก

นัดต่อมาเวลส์เสมอกับทีมชาติเม็กซิโก 1–1 โดยเวลส์ได้ประตูขึ้นนำก่อนจากลูกยิงของอิวอร์ ออลเชิร์ช ก่อนที่ไคเม่ เบลมอนเต้จะตีเสมอให้เม็กซิโก

ผลจากการที่นัดสุดท้ายในรอบแรก ทีมชาติเวลส์เสมอกับเจ้าภาพสวีเดน 0–0 ทำให้สวีเดนผ่านเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม ส่วนเวลส์ มี 3 คะแนนเท่ากับฮังการี ต้องตัดสินด้วยการเพลย์ออฟ เพื่อหาทีมที่จะเข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป

การแข่งขันเพลย์ออฟ ระหว่างเวลส์และฮังการี่ ทีมชาติเวลส์เสียประตูก่อนในครึ่งแรก แต่มายิงคืนได้ 2 ประตูรวดจากอิวอร์ ออลเชิร์ช ที่ยิงตีเสมอ และได้ประตูชัยจากเทอร์รี่ เมดวิน ปีกจากสโมสรท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ในช่วงท้ายเกมส์ ทำให้ผ่านเข้าไปสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป

ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเวลส์ต้องพบกับทีมชาติบราซิล และจอห์น ชาร์ลส์ กองหน้าตัวสำคัญของทีมก็ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในที่สุดเวลส์ก็แพ้บราซิลไป 1–0 โดยผู้ที่ยิงประตูให้ทีมชาติบราซิลได้ในแมตช์ดังกล่าวเป็นนักเตะหนุ่มที่อายุเพียง 17 ปี ของสโมสรซานโต๊ส และประตูนี้เป็นประตูแรกของเขาในนามทีมชาติบราซิล อีกทั้งยังส่งผลให้เขาเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลกจนถึงปัจจุบัน หลังจบทัวนาเมนต์บราซิลคว้าตำแหน่งแชมป์โลกไปครองได้สำเร็จ และนักฟุตบอลหนุ่มที่ยิงประตูได้ในแมตช์นี้กลายเป็นกองหน้าระดับตำนานของวงการฟุตบอลในเวลาต่อมา นักฟุตบอลหนุ่มคนนี้มีชื่อเล่นว่า "เปเล่"

ผู้เล่น

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

รายชื่อผู้เล่น 26 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022

จำนวนนัดที่ลงเล่นให้ทีมชาติและจำนวนประตูที่ยิงได้นับถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2022 หลังแข่งขันกับ อิหร่าน

ผู้เล่นที่ลงเล่นให้ทีมชาติมากที่สุด

ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2022 (แถบสีฟ้าคือผู้เล่นที่ยังคงเล่นให้ทีมชาติอยู่ในปัจจุบัน):

รางวัลโกลเดน แคป

สมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล โกลเดน แคป หรือ หมวกทีมชาติทองคำ ให้แก่นักฟุตบอลที่ลงเล่นให้กับทีมชาติมากกว่า 50 นัด ดังรายชื่อต่อไปนี้ สังเกต: ผู้ที่ยังคงเล่นให้กับทีมชาติจะแสดงเป็น ตัวหนา:

ผู้ทำประตูสูงสุด

แถบสีฟ้าคือผู้เล่นที่ยังคงเล่นให้ทีมชาติอยู่ในปัจจุบัน

สถิติด้านอายุ

  • ผู้เล่นทีมชาติที่มีอายุน้อยที่สุด :แฮร์รี วิลสัน (16 ปี 207 วัน)
  • ผู้เล่นทีมชาติที่มีอายุมากที่สุด :บิลลี่ เมเรดิธ (45 ปี 229 วัน)
  • ผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในการแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย :รอย เวอร์นอน (21 ปี 42 วัน)
  • ผู้เล่นอายุมากที่สุดในการแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย :เดฟ โบเวน (30 ปี 1 วัน)

นักฟุตบอลเวลส์ยอดเยี่ยมแห่งปี

  • รางวัลนักฟุตบอลเวลส์ยอดเยี่ยมแห่งปี โดยสมาคมฟุตบอลเวลส์ (FAW) เริ่มครั้งแรกในปี ค.ศ.1993

ชุดที่ใช้สำหรับการแข่งขัน

อดีตผู้เล่นคนสำคัญ

  • จอห์น ทอแช็ก
  • ไรอัน กิกส์
  • แกเร็ท เบล

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น


Text submitted to CC-BY-SA license. Source: ฟุตบอลทีมชาติเวลส์ by Wikipedia (Historical)