Aller au contenu principal

ฮอนด้า ซีวิค


ฮอนด้า ซีวิค


ฮอนด้า ซีวิค (Honda CIVIC) รถยนต์ที่ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทฮอนด้า ซีวิคเปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2516 เป็นรถสองประตูขนาดเล็ก โดยมีความจุเครื่องยนต์ 1,169 ซีซี และ 1,238 ซีซี โดยในปัจจุบันมีการปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งเครื่องยนต์และความกว้างในห้องผู้โดยสาร (ซีวิครุ่นปัจจุบันที่มีขายในเมืองไทยเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร และ 1.5 ลิตร เทอร์โบ) นอกจากนี้ซีวิคได้ถูกจัดเป็นรถคุณภาพค่อนข้างดีเนื่องจาก ลักษณะรูปร่างภายนอกและความเชื่อถือได้ของระบบเครื่องยนต์และช่วงล่างพอสมควร

รุ่นที่ 1 (SB1/SG/SH/SE/VB; พ.ศ. 2516–2522)

โฉมนี้ ผลิตมาทั้งสิ้นถึง 7 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2522 รุ่นบุกเบิกมีแรงม้าเพียง 50 แรงม้า และมีความยาว 139.8 นิ้ว หรือ 3.55 เมตร แต่ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น โดยรุ่นสุดท้ายของโฉมนี้มีแรงม้า 60 แรงม้า และยาว 146.9 นิ้ว หรือ 3.73 เมตร

โฉมนี้ เป็นรุ่นที่อยู่ในยุคที่ระบบเกียร์ยังไม่เน้นการประหยัดน้ำมัน และเทคโนโลยีด้านรถยนต์ยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่ประหยัดเท่าใดนัก รถโฉมนี้ที่ออกวางจำหน่ายในขณะนั้น จะมีระบบเกียร์อยู่ 3 แบบให้เลือกซื้อ คือ เกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด, เกียร์ธรรมดา 4 สปีด, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด แต่จะผลิตเกียร์ธรรมดา 4 สปีด เป็นมาตรฐาน เพราะเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ยังมีราคาสูง ส่วนเกียร์อัตโนมัติจะกินน้ำมันมาก ทำให้ไม่เป็นที่นิยม

มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือขนาด 1.2 กับ 1.5 ลิตร

มีตัวถัง 5 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (SB1/SG), Hatchback 3 ประตู (SB1/SG), ซีดาน 4 ประตู (SE/SG), Hatchback 5 ประตู และ Station Wagon 5 ประตู โดยในประเทศไทยมีการเข้ามาจำหน่ายโดยบริษัท Asian Honda จำกัดเพียงไม่กี่คัน

รุ่นที่ 2 (SL/SS/SR/ST/VC/WD; พ.ศ. 2523–2526)

โฉมนี้ ผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2526 โดยทั้ง 4 รุ่นปี มีความยาวคงที่คือ 146.9 นิ้ว หรือ 3.73 เมตร แรงม้า 55 กับ 67 แรงม้า แล้วแต่รุ่นเครื่องยนต์ คือขนาด 1.3 กับ 1.5 ลิตร ตามลำดับ

โฉมนี้ มีตัวถัง 4 แบบ คือ Hatchback 3 ประตู (SL), ซีดาน 4 ประตู (SS), Hatchback 5 ประตู (SR) และ Station Wagon 5 ประตู (ST) (ซีวิครุ่นนี้ขายในบางประเทศในชื่อ ฮอนด้า บอลเลด (Honda Ballade) ซึ่งต่อมา บอลเลด ก็ได้แยกตัวเป็นรุ่นอิสระไป)

โฉมนี้ มีระบบเกียร์ให้เลือกซื้อ 4 ระบบ คือ เกียร์อัตโนมัติ 2 กับ 3 สปีด และเกียร์ธรรมดา 4 กับ 5 สปีด (เกียร์อัตโนมัติถูกพัฒนาขึ้นจากเดิม)

แต่โฉมนี้ ก็เป็นโฉมสุดท้ายที่ซิวิคผลิตรถเกียร์อัตโนมัติแบบ 2 ระดับเกียร์ขาย และโฉมถัดจากนี้ไปจะไม่มีอีก

รุ่นที่ 3 (AG/AH/AJ/AK/AT/AU; พ.ศ. 2527–2530)

โฉมนี้ ผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2530 โดยทั้ง 4 รุ่นปี มีความยาว 150 นิ้ว หรือ 3.81 เมตร สูง 1.35 เมตร กว้าง 1.62 เมตร เป็นโฉมแรกที่มีการทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (ซีวิค 2 รุ่นก่อนหน้านั้นเคยนำมาจำหน่าย แต่เป็นการจำหน่ายโดยเอเชี่ยน ฮอนด้า โดยนำเข้ามาเพียงไม่กี่คัน) โดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อปี พ.ศ. 2527 ในยุคที่ฮอนด้ายังเพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเป็น Civic รุ่นแรกที่ประกอบในประเทศโดยโรงงานบางชัน เจเนอรัล แอสเซมบลี จังหวัด กรุงเทพมหานคร ในเครือพระนครยนตรการ ผู้จำหน่ายรถยนต์โอเปิล โฮลเด้น และไดฮัทสุในขณะนั้น

มีตัวถัง 4 แบบ คือ Hatchback 3 ประตู (AG-AH/AT), ซีดาน 4 ประตู (AJ-AK/AU/SB4), คูเป้ 3 ประตู และ Station Wagon 5 ประตู (AJ-AK/AR) มีเครื่องยนต์ขนาดเดียว คือ 1.5 ลิตร

มี 3 ระบบเกียร์ คือเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (ไม่มีระบบเกียร์ธรรมดา 4 สปีด กับเกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด)

และโฉมนี้เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ แบบ 3 สปีด

รุ่นที่ 4 (EC/ED/EE/EF/EX; พ.ศ. 2531–2534)

โฉมนี้ ผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2534 โฉมนี้ มีการผลิตตัวถัง 4 รูปแบบ คือ Hatchback 3 ประตู (EC) , ซีดาน 4 ประตู (EF) , คูเป้ 3 ประตู (ED) และ Station Wagon 5 ประตู (EE)

โฉมนี้ มีระบบเกียร์ให้เลือกถึง 4 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด, เกียร์ธรรมดา 4 สปีด, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด เครื่องยนต์ 4 ขนาด คือ 1.3, 1.4, 1.5 และ 1.6 ลิตร

โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทยนิยมเรียกว่า "โฉมไฟท้าย 2 ชั้น" หรือ "โฉม EF" เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์ธรรมดา 4 สปีด

นับเป็นโฉมที่มีความหลากหลาย และเครื่องยนต์ที่ทนทาน ปัจจุบันนี้ ก็ยังสามารถเห็นรถซีวิคโฉมไฟท้าย 2 ชั้นนี้ บนท้องถนนได้ แม้จะเลิกผลิตไปมากกว่า 20 ปีแล้ว และเป็น Civic รุ่นเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีภาพยนตร์โฆษณาออกอากาศ แต่เป็นรุ่นที่ยังพบเห็นได้มากกว่ารุ่นที่ 3 ที่มีภาพยนตร์โฆษณาซะอีก

นอกจากนี้ทางฮอนด้าได้นำโครงสร้างของซีวิครุ่นนี้ในรุ่น ฮอนด้า ซิตี้ โฉมที่สาม และ ฮอนด้า ซีอาร์-เอกซ์ อีกด้วย

รุ่นที่ 5 (EG/EH/EJ; พ.ศ. 2535–2538)

โฉมนี้ มีการผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2538 มีตัวถัง 3 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (EJ1/2), Hatchback 3 ประตู (EG3/6, EH2/3) และแบบซีดาน 4 ประตู (EG8/9, EH9)

มีระบบเกียร์ 2 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 1.3, 1.5, 1.6 และ 1.8 ลิตร พ่อค้ารถในไทย นิยมเรียกโฉมนี้ว่า "โฉมเตารีด" และ "โฉมสามดอร์" ในแบบตัวถังสามประตู

โฉมนี้ เป็นโฉมที่รูปลักษณ์ภายนอกของซีวิคเริ่มเปลี่ยนไป เพราะ 4 โฉมแรก ภายนอกจะมีลักษณะตรง แล้วหักเป็นมุมๆ ทำให้มีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่โฉมนี้จะเริ่มเปลี่ยนเป็นความโค้งมน และโฉมจากนี้ จะเพิ่มความโค้งมนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงโฉมล่าสุด ที่มีความโค้งมนมาก

ในประเทศไทย นอกจากการขายตัวถังแบบ 4 ประตูแล้ว ยังมีการขายตัวถังแบบ 3 ประตูด้วย โดยรุ่นซีดานนำมาจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2535 ส่วนรุ่น 3 ประตูนำมาจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นซีวิคโฉมแรกในประเทศไทยที่มีการนำรุ่น 3 ประตูมาจำหน่าย

นอกจากนี้ ในประเทศไทย ช่วงกลางๆ ของโฉมนี้ ซีวิคเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์แบบหัวฉีด แทนระบบคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งสังเกตได้จากอักษรทริมที่อยู่ท้ายรถ จะมีตัวไอเล็กภาษาอังกฤษ (i) ต่อท้าย (เป็นทริมแบบ LXi, EXi, ฯลฯ) แต่ถ้าไม่มี i ต่อท้าย (LX, EX, ฯลฯ) แปลว่า ซีวิคคันนั้นยังใช้เครื่องคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งรถที่ใช้ระบบหัวฉีด จะใช้เชื้อเพลิงคุ้มค่า และนอกจากนี้ เครื่องหัวฉีด สามารถเติมน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ (แก๊สโซฮอล์ E10) ได้ ซึ่งยิ่งช่วยผู้ใช้ประหยัดมากขึ้นไปอีก ในขณะที่เครื่องแบบคาร์บูเรเตอร์ ไม่เหมาะสมที่จะใช้แก๊สโซฮอล์

รุ่นที่ 6 (EJ/EK/EM; พ.ศ. 2539–2543)

โฉมนี้ มีการผลิตมาทั้งสิ้น 5 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543

โฉมนี้ มีตัวถัง 5 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (EJ6/7/8/EM1), Hatchback 3 ประตู (EJ6/EK1/2/3/4/9), ซีดาน 4 ประตู (EJ6/8/9), Hatchback 5 ประตู (พื้นฐานของโดมานี, MA/MB/MC) และ Station Wagon 4 ประตู (Orthia / Aerodeck - พื้นฐานของโดมานี) โดยในประเทศไทยมีจำหน่ายรุ่นซีดาน 4 ประตู และคูเป้ 2 ประตู มีขนาดเครื่องยนต์ 3 ขนาด คือ 1.3, 1.4, 1.5 และ 1.6 ลิตร และฮอนด้ายังผลิตให้กับอีซูซุเฉพาะในไทยเท่านั้นในชื่อ อีซูซุ เวอร์เท็กซ์ (อังกฤษ: Isuzu Vertex) โดยนำรุ่นหรูในชื่อ Integra SJ มาเปลี่ยนตรา Isuzu ขายในปี พ.ศ. 2539 ก่อนจะเลิกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2542 ก่อนจะหมดเกลี้ยง ถึงจะขายไม่ดีนัก แต่ยังพบเห็นได้มากกว่า Honda Tourmaster ที่ Isuzu ผลิตให้ Honda และ Opel Campo ที่ Isuzu ผลิตให้ GM Thailand และเป็นการกลับมาของรถยนต์นั่ง Isuzu ในประเทศไทยในรอบ 8 ปี ตั้งแต่เลิกจำหน่ายอีซูซุ อาสก้าเมื่อปี พ.ศ. 2531

ระบบเกียร์ 3 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ CVT, เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด โฉมนี้พ่อค้ารถในประเทศไทยนิยมเรียกว่า "โฉมตาโต" ซึ่งโฉมนี้ เครื่องยนต์ระบบคาร์บูเรเตอร์ค่อยๆ หายไป และในที่สุด ฮอนด้าก็เลิกผลิตรถยนต์นั่งแบบคาร์บูเรเตอร์อย่างสมบูรณ์ และรถยนต์นั่งฮอนด้าทุกคันที่ผลิตเป็นรุ่นปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป เติมแก๊สโซฮอล์ได้ทุกคัน เว็บไซต์สำหรับผู้ชื่นชอบ ซีวิคโฉมตาโตนี้ ส่วนมากจะอยู่กันที่ WLC [[1]]

รุ่นที่ 7 (EU/ES/EP/EM; ค.ศ. 2000–2006)

โฉมนี้ มีการผลิตมาทั้งสิ้น 5 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2000 - พ.ศ. 2006 โฉมนี้ มีตัวถัง 4 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (EM, เฉพาะอเมริกาเหนือและยุโรป), Hatchback 3 ประตู (EP), ซีดาน 4 ประตู (ES) และ Hatchback 5 ประตู (EU) โดยในประเทศไทยฮอนด้าจะจัดจำหน่ายเฉพาะตัวถังซีดาน 4 ประตู

และเพิ่มความหลากหลายของขนาดเครื่องยนต์ โดยมี 5 ขนาด คือ 1.3, 1.5, 1.6, 1.7 และ 2.0 ลิตร และโฉมนี้ มีระบบเกียร์ 5 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ CVT, เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด, เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด โดยในประเทศไทยฮอนด้าจะจำหน่ายเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 1.7 D17A1 VTEC LEV 122 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และ 2.0 ลิตร K20A3 i-VTEC 155 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดเท่านั้น

โฉมนี้ เป็นโฉมแรก ที่ฮอนด้าได้ทำระบบไฮบริดมาติดกับรถซีวิค เป็นรุ่นพิเศษ โดยได้นำเข้าในประเทศไทย แต่ก็มีคนซื้อไม่มาก ขายไปได้ทั้งหมด 50 คัน ส่วนใหญ่จะเป็นซัพพลายเออร์รายต่างๆ ปัจจุบันยังสามารถพบได้ไม่มากนัก อย่างมากก็ที่สำนักงานใหญ่ Honda Automobile Thailand ย่านบางนา

นอกจากนี้ฮอนด้า ซีวิค โฉมที่ 7 นี้ ยังได้รับรางวัลรถยนต์นั่งยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2000-2001 (2000–2001 Car of the Year Japan) และ รางวัล RJC Car of the Year ประจำปี 2001 อีกด้วย

โฉมนี้เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์อัตโนมัติแบบ 4 สปีด พ่อค้ารถเรียกซีวิคโฉมนี้ว่า "โฉม Dimension" ตามคำขวัญในภาพยนตร์โฆษณาว่า "New Dimension มุมมองใหม่แห่งยนตกรรมเหนือระดับ ฮอนด้า ซีวิค ใหม่"

รุ่นที่ 8 (FA/FD/FG/FK/FN; ค.ศ. 2006–2011)

โฉมนี้ เป็นโฉมล่าสุด เริ่มผลิตตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2006 จนถึงรุ่นปีล่าสุดของ ฮอนด้า ซิวิค ที่ฮอนด้ายังผลิตอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นโฉมนี้ มีตัวถัง 4 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (FG1–2), Hatchback 3 ประตู (FN1–4), ซีดาน 4 ประตู (FA1–5, เฉพาะอเมริกาเหนือ)/(FD1–7, International model) และ Hatchback 5 ประตู (FK1–3) โดยในประเทศไทยนั้นทางฮอนด้าจะจำหน่ายเฉพาะแบบซีดาน 4 ประตู (รหัสตัวถัง FD)

โฉมนี้ มีระบบเกียร์ 3 แบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด มีเครื่องยนต์ 7 ขนาด คือ 1.3 ไฮบริด , 1.4, 1.6, 1.8, 2.0, 2.2 และ 2.4 ลิตร แต่ในประเทศไทยมีการจำหน่ายเฉพาะรุ่น 1.8 ลิตร SOHC i-VTEC (R18A) 142 แรงม้า เกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด และ 2.0 ลิตร DOHC i-VTEC (K20Z2) 155 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อม paddle shifting

และจนถึงรุ่นปี ค.ศ. 2008 ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ชนิดใหม่ในรถซีวิค ให้สามารถใช้พลังงานทดแทนพิเศษ แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ ซึ่งแก๊สโซฮอล์ใหม่นี้ สามารถลดมลพิษในอากาศได้มากกว่าแก๊สโซฮอล์ทั่วไป

ฮอนด้า ซีวิค โฉมที่ 8 นี้ ได้รับรางวัลรถยนต์นั่งยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปอเมริกาเหนือ (North American Car of the Year) ประจำปี 2006 และ รางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศไทย (Thailand Car of the Year 2009) ประเภทรถยนต์นั่ง ในรุ่นไม่เกิน 2,000 ซีซี (Best Sedan under 2,000 cc.) อีกด้วย

ซีวิครุ่นนี้ในประเทศไทย ถูกยุติสายการผลิตในวันที่ 5 ตุลาคม 2011 และก่อนที่จะเลิกผลิตได้มีรุ่นพิเศษในชื่อว่า Civic Sport White Pearl เป็นรุ่นพิเศษรุ่นสุดท้าย ก่อนโรงงานของ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะถูกน้ำท่วมไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ผลิตและจำหน่ายให้ลูกค้าออกมาไม่ครบตามจำนวนที่ตั้งใจไว้

รุ่นที่ 9 (FB/FG/FK; ค.ศ. 2011–2015)

โฉมนี้ ปัจจุบันกำลังอยู่ในการเตรียมตัวเพื่อเข้าแทนที่โฉมที่ 8 ในหลายประเทศ ซึ่งเดิมทีนั้น ทางฮอนด้าวางแผนจะเปิดตัวตามประเทศต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2011 แต่ด้วยวิกฤตแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ทำให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนได้รับความเสียหาย จึงต้องเลื่อนไปก่อน ซีวิคโฉมนี้โดน Consumer Report ในอเมริกา วิจารณ์ ว่าแย่ เนื่องจากใช้วัสดุที่ไม่ค่อยดีและการใส่ออพชั่นที่น้อย

โฉมนี้ มีตัวถัง 2 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู (FG3–4, อเมริกาเหนือ) ซีดาน 4 ประตู (FB1–6) แฮทช์แบ็ก 5 ประตู (FK1/2) และ Station wagon 5 ประตู (FK3; Civic Tourer) โดยในประเทศไทยนั้นทางฮอนด้าจะจำหน่ายเฉพาะแบบซีดาน 4 ประตู (รหัส FB) มีเครื่องยนต์ให้เลือก 7 ขนาด คือ 1.4, 1.5, 1.8, 2.0, 2.2 และ 2.4 ลิตร โดยในประเทศไทยจะมีจำหน่ายเฉพาะรุ่น 1.8 (R18Z1) SOHC i-VTEC 16-valve 141 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 6 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด และ 2.0 ลิตร (R20Z1) SOHC i-VTEC 16-valve 155 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย เลื่อนการเปิดตัวออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมจะทำการเปิดตัวต่อสาธารณชนใน งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 28 (Thailand International Motor Expo 2011) เนื่องจากมหาอุทกภัยในประเทศไทย 2011

จนถึงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2012 ฮอนด้า ซีวิค โฉมนี้ ก็ได้เปิดตัวที่ Royal Paragon Halls

แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการทำตลาดซีวิคโฉมนี้ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากยอดขายของซีวิครุ่นที่ 8 ตกต่ำลงอย่างมากในช่วงปลายอายุตลาดมาก รวมทั้งเวอร์ชั่นไฮบริดด้วยเช่นกัน และในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ซีวิครุ่นนี้ในแง่ลบ ทำให้ต้องมีการ Minorchange ขึ้นในอเมริกา และเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 ก็ได้เปิดตัวรุ่น Hybrid ในประเทศไทยซึ่งใช้ระบบไฮบริด IMA Intergrated Hybrid Motor (เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร SOHC 16 valve รุ่น LEA-MF6 (i-VTEC + IMA) มาพร้อม DC brushless permanent magnet motor) และเกียร์แปรผัน (CVT) ซึ่งทำให้ประหยัดน้ำมันมาก

และฮอนด้า ซีวิค สามารถใช้พลังงานทดแทนพิเศษ แก๊สโซฮอล์ E85 ได้อีกด้วย ปลายเดือนตุลาคม 2013 ทางฮอนด้าก็ได้ผลิตรุ่น Modulo ขึ้นโดยนำรุ่น 1.8E มาตกแต่งด้วยชุดแต่งเฉพาะตัวของ Modulo

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2014 ฮอนด้า ซีวิค ได้ทำการปรับปรุงกระจังหน้าและเพิ่มรุ่นพิเศษคือรุ่น 1.8ES ซึ่งมีสเกิร์ตรอบคันและรุ่น 2.0ES ที่มีสเกิร์ตรอบคันเช่นกัน ได้ปรับปรุงให้มีระบบสตาร์ทอัจฉริยะตั้งแต่รุ่น 1.8E ขึ้นไป

รุ่นที่ 10 (FC/FK; ค.ศ. 2016-2021)

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้มีการเปิดตัวรถฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 10 เป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้ผลิตในโรงงานแห่งใหม่ของฮอนด้าที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รุ่นนี้ได้ใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่พัฒนามาจากฮอนด้า แอคคอร์ด ทำให้ภายในห้องโดยสารและมิติของตัวถังมีความกว้างขวางกว่ารุ่นที่ผ่านมา

ตัวถังมีการออกแบบเป็นแบบฟาสต์แบ็ก (ซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคาเทลาดลงไปจนเกือบถึงด้านท้ายสุดของกระโปรงท้าย) ภายนอกมีการออกแบบกระจังหน้าใหม่ที่ลากยาวเชื่อมต่อไปถึงสองฝั่งของไฟหน้า โดยสำหรับรุ่น Turbo RS ได้ใช้ไฟหน้า LED และกระจังหน้าสีดำ ส่วนรุ่น E, EL และ Turbo ไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์และกระจังหน้าโครเมียม ส่วนไฟท้ายมีลักษณะเป็นตัว C มีไฟเลี้ยวแสดงตำแหน่งตรงที่หน้าซุ้มล้อหน้าคล้ายกับเวอร์ชั่นอเมริกาแต่จะเป็นโคมสีขาว

ภายในนั้นมีการปรับปรุงใหม่มากมายซึ่งมีความแตกต่างจากรุ่นที่ 9 มาก รุ่นนี้ได้ใช้หน้าจอมาตรวัดความเร็วเป็นแบบหน้าจอดิจิทัล LCD ขนาด 7 นิ้วแบบใหม่ ซึ่งไม่เป็นแบบสองชั้นแบบรุ่นที่แล้ว และมีหน้าจอเอ็นโฟนเทนเมนต์สัมผัสขนาด 7 นิ้ว ที่สามารถรองรับระบบแอปเปิ้ล คาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้

รุ่นนี้แบ่งเครื่องยนต์เป็น 2 รุ่น คือ เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร (R18Z1) บล็อกเดิม และเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบ (L15B7) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ซึ่งทั้งเครื่องยนต์และระบบเกียร์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุดที่ 220 นิวตันเมตร ที่ 1,700–5,500 รอบต่อนาที ให้กำลังเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 2.4 ลิตร มีอัตราการประหยัดน้ำมันเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร โดยเครื่องยนต์ทั้งสองรุ่นไม่มีเกียร์แบบธรรมดาในประเทศไทยแล้ว

ฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 10 ในประเทศไทยได้แบ่งออกเป็น 4 รุ่นย่อยคือ 1.8 E, 1.8 EL, 1.5 Turbo และ 1.5 Turbo RS

แฮทช์แบ็ก (FK)

ฮอนด้า ซีวิค แฮทช์แบ็ก ได้เปิดตัวไปก่อนหน้าที่ต่างประเทศแล้วที่งานปารีส มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 แต่สำหรับบ้านเราได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2017 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน และเริ่มจำหน่ายวันที่ 21 มีนาคม ที่ปีเดียวกัน สาเหตุที่รุ่นแฮทช์แบ็กได้เปิดตัวในประเทศไทย ก็เพราะประเทศไทยนั้นได้ผลิตรุ่นแฮทช์แบ็กส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว ประเทศของเราก็พลอยได้อนิสงค์ไปด้วย เป็นการหวนกลับมาทำตลาดตัวถังแฮทช์แบ็กอีกครั้ง หลังจากที่เคยเปิดตัวซีวิค EG แฮทช์แบ็ก 3 ประตู เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536

รุ่นแฮทช์แบ็กในประเทศไทยมีเพียงเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ พร้อมเกียร์อัตโนมัติ CVT เท่านั้น โดยใช้เครื่องยนต์เช่นเดียวกับรุ่นซีดาน เทอร์โบ ภายในห้องโดยสารมีขนาดกว้างขวางกว่ารุ่นซีดานเล็กน้อย เนื่องจากมีพื้นที่เหนือศีรษะมากกว่า ส่วนด้านท้ายมีความจุ 414 ลิตร และมีความยาวของตัวถังสั้นกว่ารุ่นซีดาน 129 มิลลิเมตร รุ่นนี้มีการตัดออฟชั่นบางอย่างจากรุ่นซีดาน Turbo RS คือ Honda Lanewatch, ระบบนำทาง และกระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติ อีกทั้งไม่ได้หลังคากระจกแก้วและท่อไอเสียคู่กลางเช่นเดียวกับเวอร์ชั่นต่างประเทศ

จนในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ฮอนด้า ซีวิค แฮทช์แบ็ก ก็ได้มีการปรับโฉม โดยได้จำหน่ายในรุ่น RS เพื่อจำหน่ายแทนรุ่น 1.5 VTEC Turbo เดิม ซึ่งมาพร้อมด้วยท่อไอเสียแบบออกกลางคู่, ชุดแต่งรอบคันแบบ RS, ระบบเชื่อมต่อ Honda Connect, Honda Lanewatch, ระบบ Honda Sensing, หน้าจอ Touchscreen 7 นิ้ว และได้มีการเปลี่ยนวัสดุตกแต่งภายในลายใหม่ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสีใหม่ สีเทา Sonic Grey Pearl

คูเป้ (FC3/FC4)

ฮอนด้า ซีวิค คูเป้นี้มีแนวคิดการออกแบบมาจากฮอนด้า ซีวิค คอนเซ็ปต์ ที่เผยโฉมในงานนิวยอร์ก ออโต้โชว์เมื่อปี 2015 ต่อมาโฉมผลิตจริงก็ได้เผยโฉมที่งานลอส แองเจอลิส ออโต้โชว์เมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน

ซีวิค คูเป้ ได้เริ่มขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559

ไทป์ อาร์ (FK8)

ฮอนด้า ซีวิค ไทป์ อาร์ รุ่นต้นแบบได้เผยโฉมครั้งแรกในระหว่างงานปารีส มอเตอร์โชว์ ประจำปี ค.ศ. 2016 รุ่นต้นแบบนั้นมีได้มีการใช้ตัวถังร่วมกันกับรุ่นแฮทช์แบ็ก แต่ได้มีการเพิ่มชุดแต่งพิเศษเข้าไป อย่างเช่น ตัวถังสีเงาอะลูมิเนียม ล้อสีดำ (เปียโนแบล็ค) ขนาด 20 นิ้ว และสปอยเลอร์ขนาดใหญ่ ในโฉมผลิตจริง ฮอนด้า ซีวิค ไทป์ อาร์ ได้ใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 2.0 ลิตร 4 สูบ เหมือนกับไทป์ อาร์รุ่นก่อนหน้า และเป็นครั้งแรกของไทป์ อาร์ที่ได้จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 ไทป์ อาร์ (รุ่นก่อนโฉมผลิตจริง) ได้ทำเวลาไว้ที่ 7:43:80 นาที ในสนามแข่งนูร์เบอร์กริง ซึ่งเร็วกว่าไทป์ อาร์รุ่นที่แล้วอยู่ 7 วินาที และได้สร้างสถิติใหม่ไว้ว่าเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่เร็วที่สุดด้วย

ซีวิค ไทป์ อาร์ ได้เริ่มจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $33,900

รุ่นปรับโฉม

Honda Civic เจเนอร์เรชั่นที่ 10 เปิดตัวโฉมไมเนอร์เชนจ์ไปแล้วในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่งาน Motor Expo 2018 ซึ่งชูจุดเด่นที่การเพิ่มสีใหม่ Brilliant sporty blue และระบบความปลอดภัย Honda Sensing กับราคาที่เพิ่มมา 5,000-20,000 บาท ซึ่งนอกจาก 2 อย่างนี้แล้ว ยังได้มีความเปลี่ยนแปลงจากโฉมเดิมหลายจุดทั้งภายนอกและภายใน แถมใส่ออพชั่นดีๆที่เราคิดไม่ถึงอีกด้วย

ราคาอย่างเป็นทางการ

  • 1.8 E CVT 874,000 บาท
  • 1.8 EL CVT 964,000 บาท
  • 1.5 Turbo CVT 1,104,000 บาท
  • 1.5 Turbo RS CVT 1,219,000 บาท

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม

  • เปลี่ยน ดีไซน์กันชนหน้า, วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร เป็น ลายกราฟิกใหม่ (ทุกรุ่น)
  • เพิ่ม แถบโครเมียมที่กันชนหลัง, ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง (ทุกรุ่น)
  • เพิ่ม สีน้ำเงินใหม่ Brilliant Sporty Blue และ สีขาวมุก Platinum White Pearl (เพิ่มเงิน 10,000 บาท) (ทุกรุ่น)
  • เพิ่ม กระจกมองข้างพับเก็บอัตโนมัติเมื่อล็อกรถ (เฉพาะรุ่น EL, Turbo และ Turbo RS)
  • เปลี่ยน ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว เป็นสีรมดำ (เฉพาะรุ่น Turbo และ Turbo RS)

รุ่น E

  • เพิ่ม ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control, คิ้วโครเมียมที่กรอบไฟตัดหมอก, กล้องมองภาพขณะถอยจอด
  • เปลี่ยน ล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ สีเงินปัดเงา (ของรุ่น EL เดิม)

รุ่น EL

  • เพิ่ม ม่านถุงลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง, ระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ Rain Sensor, ระบบกล้องมองภาพกระจกมองข้างฝั่งผู้โดยสาร Honda LaneWatch
  • เปลี่ยน ล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ สีรมดำ

รุ่น Turbo

  • เพิ่ม แป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift
  • เปลี่ยน สีล้อขนาด 17 นิ้ว ลายใบพัดเดิม จากปัดเงาสีเงินเป็นสีเทาดำ

รุ่น Turbo RS

  • เพิ่ม สัญลักษณ์ RS ที่กระจังหน้า, การตกแต่งภายในห้องโดยสาร ด้วยตะเข็บด้ายสีแดง, ระบบ Honda SENSING ประกอบไปด้วย
    • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Auto High-Beam
    • ระบบเตือน และ ช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LDM
    • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS
    • ระบบเตือนการชนรถ และ คนเดินถนน พร้อมระบบช่วยเบรก CMBS
    • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมปรับความเร็วตามคันหน้า Adaptive Cruise Control ACC with LSF Low Speed Following
    • เปลี่ยน เสาอากาศวิทยุ เป็นแบบครีบฉลาม Shark Fin, สีล้อแม็ก ขนาด 17 นิ้ว จากปัดเงาทูโทนเป็นสีดำ

ราคา

  • ปรับราคาเพิ่ม 5,000 บาท (รุ่น E, EL และ Turbo; จากเดิม 869,000 / 959,000 / 1,099,000 บาท)
  • ปรับราคาเพิ่ม 20,000 บาท (รุ่น Turbo RS; จากเดิม 1,199,000 บาท)

รุ่นที่ 11 (FE/FL; ค.ศ. 2021–ปัจจุบัน)

ฮอนด้า ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดได้ถูกเผยโฉมในรูปแบบโปรโตไทป์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ต่อมารูปภาพอย่างเป็นทางการก็ได้เผยโฉมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563 และเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 28 เริ่มวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่อเมริกาเหนือเป็นรุ่นปี 2022 ส่วนรุ่นท้ายลาด (ทำการตลาดในชื่อ "ซีวิค แฮทช์แบ็ก") ได้เปิดตัวตามหลังไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทำการตลาดสำหรับอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น นอกจากนี้ รุ่นสองประตูจะไม่มีการจำหน่ายต่อไปอีกเนื่องจากยอดขายที่ลดลง ซีวิคตัวถังเก๋ง (ซีดาน) รุ่นที่สิบเอ็ดจะไม่มีจำหน่ายในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เนื่องจากยอดขายที่แย่ลงของรุ่นก่อน จึงทำให้แอคคอร์ดเป็นซีดานเพียงรุ่นเดียวที่ฮอนด้าจำหน่ายในตลาดเหล่านั้น

ตลาด

อเมริกาเหนือ

ในสหรัฐอเมริกา ซีวิตมาใน 4 รุ่นย่อย คือ แอลเอ็กซ์ สปอร์ต อีเอ็กซ์ และทัวริ่ง (หรือชื่อว่าสปอร์ตทัวริ่งในซีวิค แฮทช์แบ็ก) รุ่นย่อยแอลเอ็กซ์และสปอร์ตจะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรสี่สูบ ในขณะที่รุ่นอีเอ็กซ์และทัวริ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ 1.5 ลิตรสี่สูบ ส่วนในแคนาดาซีวิคก็มี 4 รุ่นย่อยเช่นเดียวกัน แต่มีการจัดลำดับที่ต่างกันคือ แอลเอ็กซื อีเอ็กซ์ สปอร์ต และทัวริ่ง ซึ่งมีเพียงรุ่นย่อยทัวริ่งเท่านั้นที่ได้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 4 สูบเทอร์โบชาร์จ ทั้งรุ่นเก๋งและลิฟต์แบ็กมาพร้อมกับเกียร์แปรผันต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รุ่นลิฟต์แบ็กสามารถเลือกเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะในรุ่นสปอร์ตและทัวริ่ง

หลังจากนั้นมีการเปิดตัวรุ่นเอสไอเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นรุ่นปี 2022 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบชาร์จ 200 แรงม้าและใช้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะThe Si v

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในประเทศไทย ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ในรุ่นย่อยอีแอล อีแอลพลัส และอาร์เอส โดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบชาร์จรหัส L15BG FFV 178 แรงม้า ในวันเดียวกันก็ยังเปิดตัวที่ประเทศเม็กซิโก (นำเข้า) ด้วยในรุ่นย่อยไอสไตล์ สปอร์ต และทัวริ่ง โดยมีทั้งเครื่องยนต์ทั้ง 2.0 ลิตรและ 1.5 ลิตรเทอร์โบชาร์จ

ในประเทศสิงคโปร์ ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบชาร์จรหัส L15BJ แต่ถูกลดลงมาอยู่ที่ 127 แรงม้าที่ 5,500 - 6,000 รอบต่อนาทีและแรงบิด 180 นิวตันเมตรจาก 1,700 ถึง 4,500 รอบต่อนาทีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย Vehicle Quota System (VQS)

ฮอนด้า ซีวิตรุ่นที่สิบเอ็ดเปิดตัวที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ในรุ่นย่อยอาร์เอส

ในประเทศฟิลิปปินส์ ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดถูกเผยโฉมเมื่อวันที่ 23 พฤษจิกายน พ.ศ. 2564 ในรุ่นย่อยเอส วี และอาร์เอส โดยทุกรุ่นย่อยใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบ 4 สูบจับคู่กับเกียร์แปรผันอัตโนมัติ

ในประเทศมาเลเซีย ฮอนด้ามาเลเซียเผยโฉมฮอนด้า ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และเปิดตัวในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยมาพร้อมกับ 3 รุ่นย่อยคือรุ่นอี วี และอาร์เอส ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ L15B7 1.5 ลิตร 4 สูบวีเทคเทอร์โบให้กำลัง 180 แรงม้าและแรงบิด 240 นิวตันเมตร อีกทั้งยังมีฮอนด้าเซนซิ่งให้ในทุกรุ่นย่อย

ในประเทศเวียดนาม ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จำนวนสามรุ่นย่อยคือรุ่นอี จี และอาร์เอส โดยทุกรุ่นมาพร้อมกับเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5 ลิตรเช่นกัน

ประเทศจีน

ฮอนด้า ซีวิครุ่นที่สิบเอ็ดได้เปิดตัวที่ประเทศจีนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และในเดือนเดียวกันก็เปิดตัว ฮอนด้า อินทีกรา (จีน: 型格; พินอิน: Xínggé) ซึ่งเป็นรุ่นที่ออกแบบใหม่ให้แตกต่างจากซีวิคโดยกวางฉีฮอนด้า

Civic e:HEV

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Honda เปิดตัว Honda Civic e:HEV รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดครั้งแรกในโลกอย่างเป็นทางการในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่จัดระหว่างวันที่ 23 มี.ค.-3 เม.ย. 2565 ทางฝั่งยุโรป Honda ได้ปล่อยรายละเอียดเบื้องต้นของ Civic e:HEV ตัวถัง Hatchback ในวันที่ 23 มีนาคม ก่อนหน้าประเทศไทยเพียง 1 วัน

Honda ยุโรปกล่าวว่า ในฐานะที่ Civic ตัวถัง Hatchback ครบรอบ 50 ปีของการทำตลาด จึงได้เปิดตัวเจเนอเรชั่นที่ 11 โดยใช้ขุมพลัง e:HEV เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแต่เพียงขุมพลังเดียว โดยไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนให้เลือก

Honda Civic e:HEV มาพร้อมดีไซน์การออกแบบที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยกลิ่นอายของความสปอร์ตพรีเมียม โดดเด่นด้วยดีไซน์ภายนอกที่บ่งบอกความเป็นยนตรกรรมไฮบริดที่ชัดเจนด้วยโลโก้ H Mark ตกแต่งกรอบสีฟ้า และสัญลักษณ์ e:HEV ที่ด้านท้าย เสาอากาศแบบครีบฉลาม และล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้วทูโทนสีใหม่

ด้านขุมพลังมาพร้อมกับเทคโนโลยีฟูลไฮบริด e:HEV ที่ผสานการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กับเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร Direct Injection Atkinson-Cycle DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า (E-CVT) และแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ส่วนสเปคยุโรป ขุมพลังจะใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Atkinson Cycle ขนาด 2.0 ลิตร 1,993 ซีซี. ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-Injection โดยยังไม่มีการเผยถึงตัวเลขสมรรถนะจากเครื่องยนต์ แต่เคลมว่ามี thermal efficiency สูงถึง 41% เลยทีเดียว เครื่องยนต์ตัวนี้ทำงานคู่กับ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า จะได้พละกำลังรวม 184 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 315 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Fixed Gear Transmission และใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion จำนวน 72 เซลล์

โดยฮอนด้า จะเปิดตัว และจำหน่าย Civic e:HEV เตรียมประกาศราคาอย่างเป็นทางการ 15 มิถุนายน 2565 แต่ช่วงนี้เปิดรับจองเรียบร้อยแล้ว พร้อมแคมเปญพิเศษ ลูกค้าที่จองสิทธิ์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เวลา 22.00 น.

ลูกค้าที่จองสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เวลา 19.00 น.รับฟรีแพ็กเกจขยายการรับประกันคุณภาพรถยนต์ Honda Ultimate Care เพิ่มระยะเวลาอีก 2 ปี หรือระยะทาง 40,000 กิโลเมตร โดยจะได้รับสิทธิ์เมื่อจองและรับรถภายในวันที่บริษัทฯ กำหนด

  • Civic e:HEV EL+ : 1,129,000 บาท
  • Civic e:HEV RS : 1,259,000 บาท

เครื่องยนต์

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฮอนด้า ซีวิค

  • เว็บไซต์ฮอนด้า ซีวิคประเทศไทย



Text submitted to CC-BY-SA license. Source: ฮอนด้า ซีวิค by Wikipedia (Historical)






Text submitted to CC-BY-SA license. Source: by Wikipedia (Historical)


ฮอนด้า ซิตี้


ฮอนด้า ซิตี้


ฮอนด้า ซิตี้ (Honda City) เป็นรถรุ่นหนึ่งที่ฮอนด้า ผลิตออกมาเพื่อให้เป็นรถรุ่นที่มีขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) เริ่มผลิตตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จมากในแถบเอเชีย รถรุ่นนี้ แรกเริ่มเดิมที จะผลิตเป็นรถ Hatchback (รถท้ายกุด ไม่มีกระโปรงหลัง เช่น แจ๊ซ หรือยาริส ในปัจจุบัน เป็นต้น) แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดเท่าใดนัก จึงได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรถซีดาน (มีท้าย และกระโปรงหลัง) อย่างปัจจุบัน

ปัจจุบัน ฮอนด้า ซิตี้ เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับยี่ห้ออื่นหลายรุ่น เช่น โตโยต้า วีออส, เชฟโรเลต อาวีโอ, ฟอร์ด เฟียสต้า, มาสด้า 2, ฮุนได แอกเซนท์ ฯลฯ ด้วยความที่เป็นรถขนาดเล็กคล้ายคลึงกัน และมีราคาใกล้เคียงกัน

ฮอนด้า ซิตี้ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งก็คือโฉมที่ 3 โดยก่อนหน้านั้น มีรถยนต์ในระดับเดียวกับซิตี้คือ โอเปิล คอร์ซา, ฟอร์ด แอสปาย, ฮุนได เอ็กเซล, ฮุนได แอกเซนท์, ฮอนด้า ซีวิค (3 ประตู) ก่อนที่จะมีรถยนต์คู่แข่งอื่นๆ ตามมาในภายหลัง เช่น โตโยต้า โซลูน่า, โตโยต้า วีออส, โตโยต้า ยาริส, มาสด้า 2, ฟอร์ด เฟียสตา, เชฟโรเลต อาวีโอ, เชฟโรเลต โซนิค, เกีย พิแคนโต นอกจากนี้ ยังเป็นคู่แข่งการตลาดกับรถ Eco Car บางรุ่น ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงและหรือเท่า B-Car เช่น นิสสัน มาร์ช, นิสสัน อัลเมร่า, มิตซูบิชิ มิราจ, ซูซูกิ สวิฟท์ เป็นต้น

นับตั้งแต่เริ่มผลิตมา ฮอนด้า ซิตี้ ได้ทำออกมาทั้งหมด 7 generation (7 รุ่น) ตามช่วงเวลาได้ ดังนี้

Generation ที่ 1 (AA/FV/FA; พ.ศ. 2524 - 2529)

ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นแรก เริ่มผลิตเป็นรถ Hatchback 3 ประตู (ซ้าย ขวา และหลัง) มีจุดเด่นตรงที่รถมีความสูงมาก และมีพื้นที่ภายในที่ดูกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ดูภายนอกแล้วรถมีขนาดเล็ก

ซิตี้รุ่นแรกนี้ มีกระแสตอบรับมากพอสมควร จนในปีถัดมา (พ.ศ. 2525) ซิตี้ก็เริ่มทำรถแบบ Convertible (เปิดประทุนได้) และแบบรถสปอร์ต และอีกปีถัดมา (พ.ศ. 2526) ที่นิวซีแลนด์ ซิตี้ ได้เข้าไปแทนที่รถมินิ ในสายการผลิตของโรงงานผลิตรถยนต์ที่นั่น และในปีเดียวกัน ก็มีการส่งออกรถซิตี้ไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนมากเช่นกัน

Generation ที่ 2 (GA; พ.ศ. 2529 - 2537)

โฉมนี้ ซิตี้ ยกเลิกการผลิตรถรุ่นเปิดประทุน โฉมนี้ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนโดยทั่วไป เนื่องจากโฉมนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และได้ยกเลิกการนำเข้ารถซิตี้มาขายในออสเตรเลีย เปลี่ยนไปนำเข้ารถ ฮอนด้า โลโก้, ฮอนด้า คาปา มาจำหน่ายแทน

ซิตี้โฉมนี้ หยุดการผลิตลงใน พ.ศ. 2537 และซิตี้หยุดการผลิตไปนานถึง 2 ปี ก่อนจะนำกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง ซึ่ง Generation ถัดจากนี้เป็นต้นไป ซิตี้ ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย


Generation ที่ 3 (3A/SX; พ.ศ. 2539 - 2545)

โฉมนี้เป็นโฉมแรกที่บริษัทฮอนด้านำเข้ามาขายในประเทศไทย ในประเทศไทยพ่อค้าเรียกว่าซิตี้รุ่นแรก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนโฉมเป็น Type Z ซึ่งโฉบเฉี่ยว สวยกว่ารุ่นอื่นๆได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เป้าหมายคู่แข่งเป็น Civic ด้วยกันแรงและสวยกว่า Civic ทางฮอนด้า ยกเลิกเป้าหมายที่จะให้ซิตี้เป็นที่นิยมในวงกว้างทั่วโลก เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายให้ซิตี้เป็นที่นิยมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ออกแบบซิตี้โฉมนี้มาเพื่อคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ โดยเปลี่ยนมาเน้นการผลิตรถ Sedan แทนรถ Hatchback และช่วงนี้ ซิตี้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับ โตโยต้า เทอร์เซล หรืออีกชื่อหนึ่ง โตโยต้า โซลูน่า

ในช่วงแรกๆ ซิตี้ในประเทศไทยมีเฉพาะเครื่องยนต์ขนาด 1,300 ซีซี รุ่น D13B SOHC 16-valve แต่ในภายหลังได้ออกเครื่องยนต์ 1,500 ซีซีด้วย เครื่อง Hyper รุ่น D15B และ D15B VTEC SOHC 16-valve

ซิตี้โฉมนี้ ออกแบบมาเพื่อให้เป็นรถ "ฮอนด้า ซีวิค ย่อส่วน" ซึ่งค่อนข้างถูกใจคนเอเชีย ช่วงรุ่นนี้ของซิตี้ ออกแบบมาจากซีวิคโฉมไฟท้าย 2 ชั้น (EF) ซิตี้โฉมนี้เป็นที่นิยมในประเทศอินเดีย, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และ ปากีสถาน ยิ่งโดยเฉพาะโฉมนี้ซึ่งมีฮอนด้า ซิตี้ Type Z ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษซึ่งก็เป็นที่นิยมไม่น้อยในไทย โดยมีขายในช่วง พ.ศ. 2542- 2545

ส่วนตัวบอดี้ได้อิทธิพลมาจาก ฮอนด้า ซีวิค โฉมที่ 4

Generation ที่ 4 (GD/GE; พ.ศ. 2545 - 2551)

โฉมนี้ในบางประเทศจะใช้ชื่อว่า "ฮอนด้า ฟิต เอเรีย" (Honda Fit Aria) โฉมนี้ยังคงเป็นที่นิยมในถิ่นเดิม เช่นเดียวกับโฉมที่แล้ว และโฉมนี้ มีรุ่นที่ปรับโฉมเล็กน้อย (ไมเนอร์เชนจ์) คือ ฮอนด้า ซิตี้ ZX ซึ่งเริ่มผลิตขึ้นใน พ.ศ. 2548 โฉมนี้เป็นที่รู้จักกันดีคือจะใช้ระบบเกียร์แบบใหม่ CVT 7 สปีด Multimatic ควบคู่เกียร์อัตโนมัติธรรมดา โดยที่เกียร์ธรรมดา (เกียร์กระปุก) 5 สปีด ก็ยังมีขาย และใช้เครื่องยนต์หัวฉีด i-DSI (Intelligent Dual And Sequential Ignition) L13A / L15A2 หรือ VTEC (Variable Valve Timing & Lift Electronic Control System) L15A1

โฉมนี้ เป็นโฉมที่ซิตี้ เริ่มแข่งขันทางการตลาดกับ โตโยต้า วีออส ซึ่งแข่งมาถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยรวมแล้ว ถือว่า ซิตี้ได้เปรียบวีออสในเรื่องของการประหยัดเชื้อเพลิง (โดยเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ i-DSI) แต่เสียเปรียบวีออสในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ความเป็นที่นิยมของรถ (ก่อนที่จะมีซิตี้ ZX นั้น ซิตี้รุ่นนี้ขายดีน้อยกว่าพอสมควร) สมรรถนะของรถ และความดูทันสมัยในรถ (เช่น วีออส ใช้หน้าปัดดิจิตอลแสดงความเร็วรถ แต่ซิตี้ยังเป็นเข็ม) สำหรับคุณภาพของตัวรถนั้นถือว่าใกล้เคียงกัน

Generation ที่ 5 (GM2/3; พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2557 )

โฉมนี้ เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551 โดยจะมี 3 รุ่นให้เลือกในประเทศไทย คือ รุ่น S , V และ SV ซึ่งรุ่น S จะมีราคาที่ถูกสุด และ SV จะมีราคาแพงที่สุด

ราคาที่จำหน่าย Honda City 5th Gen. Pre-Facelift

  • S MT 524,000 บาท
  • S AT 564,000 บาท
  • V AT ABS 619,000 บาท
  • V AT (AS) 644,000 บาท
  • SV AT (AS) 694,000 บาท

รูปทรงใหม่ที่โฉบเฉี่ยว ทันสมัย กว้างขวางขึ้น ความมู่ทู่ลดลง ประหยัดน้ำมัน รถราคาถูก และประกอบกับภาวะน้ำมันแพง ทำให้ซิตี้โฉมนี้มียอดจองทะลุเป้าหมายที่ฮอนด้าตั้งไว้

ฮอนด้า ซิตี้ โฉมที่ 5 นี้ ได้รับรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี ระดับประเทศไทย 2 ปีซ้อน (Thailand Car of the Year 2009,2010) ในประเภทรถยนต์นั่ง ในรุ่นไม่เกิน 1,500 ซีซี (Best Sedan under 1,500 cc.)

ราคาที่จำหน่าย Honda City 5th Gen. Facelift

  • S MT 559,000 บาท
  • S AT 599,000 บาท
  • V AT 646,000 บาท
  • SV AT 704,000 บาท

ในปี พ.ศ. 2554 ฮอนด้าประเทศไทยได้มีการปรับโฉม Minorchange ฮอนด้า ซิตี้ และในปี พ.ศ. 2555 ฮอนด้าได้เปิดตัวรุ่น City CNG ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้พลังงานทางเลือก และ ยังมีรุ่นพิเศษ Modulo ซึ่งตกแต่งด้วยชุดแต่ง Modulo ก่อนที่จะมีการปรับโฉม Full Modelchange ในปี พ.ศ. 2557

ราคาที่จำหน่าย

Honda City CNG

  • S CNG AT 659,000 บาท
  • V CNG AT 706,000 บาท

Honda City Modulo

  • V AT 678,000 บาท

ล่าสุด พ.ศ. 2556 ทางฮอนด้าประเทศไทยก็ได้เพิ่มตัวเลือกอีกหนึ่งตัวเลือกในรุ่น SV นั่นก็คือรุ่น SV VSA โดยมีการเพิ่ม VSA, ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารด้านหน้า, จุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก ISOFIX & Child Anchor แต่ก็ต้องขาด "เบาะด้านหลังปรับเอนได้หนึ่งระดับ" ที่มีมาให้เฉพาะในรุ่น SV ไป นอกจากนั้นอุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนกับ SV ทุกประการ ยกเว้นราคาที่สูงกว่ารุ่น SV 14,000 บาทซึ่งอยู่ที่ 718,000 บาท

Generation ที่ 6 (GM4/5/6/8/9; พ.ศ. 2557 - 2562)

โฉมนี้ เปิดตัวในประเทศไทยในรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ไบเทค บางนา โดยจะมี 5 รุ่นให้เลือกในประเทศไทย คือ รุ่น S (เกียร์ธรรมดา), V , V+ , SV และ SV+

สำหรับเครื่องยนต์ก็ยังใช้เครื่องยนต์ตัวเดิม ขนาด 1.5 ลิตร แต่พละกำลังถูกลดลงเล็กน้อยลงเหลือ 117 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 146 นิวตัน-เมตรที่ 4,700 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT พร้อมระบบ Paddle Shift 7 สปีด และมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ในรุ่นล่างสุด รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E85 ในทุกรุ่นย่อย พร้อมกับระบบ Econ Assist ที่ช่วยให้การขับขี่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

พร้อมทั้งยังมีโครงสร้างนิรภัย G-CON ระบบป้องกันการล็อกล้อ ABS ระบบควบคุมการทรงตัว VSA ระบบช่วยออกตัวในทางชัน HSA (ยกเว้นรุ่นเกียร์ธรรมดา) และไฟเตือนการเบรกกระทันหัน ESS เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยมาตรฐานในทุกรุ่นย่อย และตั้งแต่รุ่น V+ ขึ้นไปจะมีเสาครีบฉลาม (Shark Fin) และหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว

รุ่นปรับโฉม

รุ่นปรับโฉมของฮอนด้า ซิตี้ ได้เผยโฉมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 โดยมีการเปลี่ยนแปลงภายนอกคือ กระจังหน้าแบบใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ ฮอนด้า ซีวิค และได้ใช้ไฟหน้าและไฟตัดหมอกแบบ LED ในรุ่น SV และ SV+ ส่วนไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED มีมาให้ในทุกรุ่นย่อย ในรุ่น V และ V+ เพิ่มฟังก์ชันกระจกมองพับเก็บด้วยไฟฟ้า ภายในมีการปรับปรุงบริเวณหน้าจออินโฟนเทนเมนต์เล็กน้อยและมาตรวัดแบบใหม่

ส่วนระบบความปลอดภัยได้มี ABS, VSA, HSA, ESS ในทุกรุ่นย่อย กล้องมองหลังเวลาถอยจอดปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (เฉพาะรุ่น V+, SV, SV+) และถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่งสำหรับรุ่น SV+ เท่านั้น ส่วนรุ่นที่เหลือได้ถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง ซึ่งเหมือนเดิมทุกอย่างเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนปรับโฉม

ยุติการทำตลาดที่ญี่ปุ่น

Honda กำลังดำเนินงานตามนโยบายลดจำนวนรุ่นรถยนต์ ที่ออกจำหน่ายทั่วโลกลง 1 ใน 3 ภายในปี พ.ศ. 2568 และกลยุทธ์นี้มีผลถึงตลาดในประเทศบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่นด้วย โดยมีรายงานว่า Honda Civic, Honda City และ Honda Jade อาจไม่ได้ไปต่อที่ตลาดดังกล่าวในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่ชัดเจนนัก แต่พอจะคาดการณ์ได้ว่าเป็นเพราะผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ไม่ค่อยนิยมรถยนต์ 4 ประตู จนยอดขายถดถอย

Generation ที่ 7 (GN; พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)

โฉมนี้ เปิดตัวในประเทศไทยในรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตลาด

ประเทศไทย

ในประเทศไทย Honda City ได้ใช้เครื่องยนต์ใหม่ เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร 3 สูบ พ่วงด้วยเทอร์โบ รหัส P10A6 มีพละกำลัง 122 แรงม้า แรงบิด 173 นิวตันเมตร พร้อมเกียร์อัตโนมัติ CVT รองรับน้ำมัน E20 มีอัตราประหยัดน้ำมัน 23.8 กม./ลิตร ซึ่งทางฮอนด้า ได้เลือกใช้เครื่องยนต์ตัวนี้ อันเนี่องมาจากเครื่องยนต์ ได้ผ่านมาตรฐาน ECO CAR เฟส 2 ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาของรุ่นนี้ กดลงมาได้ โดยในทางฮอนด้า ได้วางรุ่นนี้ อยู่ในตำแหน่ง บี-เซกเมนต์ เช่นเดิม

สีตัวถังภายนอก มีให้เลือก 6 สี ได้แก่ สีแดง Ignite Red Metallic (เฉพาะรุ่น RS), สีขาวมุก Platinum White Pearl (เฉพาะรุ่น RS / SV) (เพิ่มเงิน 10,000 บาท), สีดำ Crystal Black Pearl (เพิ่มเงิน 6,000 บาท), สีเงิน Lunar Silver Metallic, สีเทา Modern Steel Metallic และ สีขาว Taffeta White (เฉพาะรุ่น S / V) เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ในรถซีดาน 4 ประตู โดยจะมี 4 รุ่นให้เลือกในประเทศไทย คือ รุ่น S , V , SV และ RS

อินเดีย

ในประเทศอินเดีย มีการเปิดเผยรายละเอียดของ Honda City เวอร์ชันอินเดีย รุ่นล่าสุดซึ่งนับเป็น Generation ที่ 5 ในวันที่ 17 มิถุนายน ก่อนถึงกำหนดการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้เราทราบว่ามีลูกเล่นหลายรายการที่ไม่มีในเวอร์ชันไทยทั้ง หลังคา Sunroof, มาตรวัดดิจิตอล และเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เบนซิน-ดีเซล

มาเลเซีย

ในประเทศมาเลเซีย ได้เปิดตัวในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะใช้เครื่องยนต์ไฮบริด 1.5 ลิตร เป็นประเทศแรกในโลก แต่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.0 TURBO เหมือนในประเทศไทย แต่บางออปชั่น ได้ก่อนในไทย อาทิระบบเบรกมือไฟฟ้า และระบบ Honda Sensing ก่อนที่ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV จะเปิดตัวในไทยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ฟิลิปปินส์

City Sedan เปิดตัวในฟิลิปปินส์พร้อมกับ Honda CR-V รุ่นปรับโฉมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ปัจจุบัน City ใหม่นำเข้าจากประเทศไทย แทนที่จะประกอบในโรงงาน Honda Santa Rosa ที่เลิกใช้แล้วในขณะนี้ เครื่องยนต์เดียวที่วางจำหน่ายในตลาดฟิลิปปินส์คือเครื่องยนต์ i-VTEC ขนาด 1.5 ลิตร เครื่องยนต์นี้รู้จักกันในชื่อ L15B1 ซึ่งค่อนข้างคล้ายกับเครื่องยนต์ L15Z ที่พบในรุ่นก่อนๆ ยกเว้นกล้องเหนือศีรษะคู่ และการใช้เทคโนโลยี Earth Dreams ของ Honda เพิ่มเติม ตัวเลือกการส่ง ได้แก่ เกียร์ธรรมดา 6 สปีดและ CVT มีจำหน่ายสามระดับในตลาดฟิลิปปินส์: S (เกียร์ธรรมดา 6 สปีดและ CVT), V (CVT เท่านั้น) และ RS (CVT เท่านั้น)

City Hatchback เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 และเป็นตลาดแรกที่ได้รับรถยนต์แฮทช์แบ็คในรูปแบบพวงมาลัยซ้าย มีเฉพาะรุ่น RS เท่านั้น

ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก ซึ่งได้ทำการเปิดตัวในประเทศไทย เป็นที่แรกในโลก ซึ่งรูปทรงด้านหน้า , เครื่องยนต์ และออพชั่น จะคล้ายกับเวอร์ชั่นปกติ แต่ด้านหลังจะสูงขึ้นเป็นทรงแฮทช์แบ็ก เพื่อให้สามารถเก็บสัมภาระได้มากขึ้น และได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก จนมียอดจองสูงถึง 2,900 คัน ภายในเวลา 2 สัปดาห์

ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV ซึ่งเป็นรถเก๋งที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริด ซึ่งเครื่องยนต์ไฮบริดใหม่ล่าสุดของ ฮอนด้า ที่เรียกว่า Intelligent Multi-Mode Drive (i-MMD) ซึ่งถูกใช้ในรถยนต์ที่ขายในท้องตลาดในชนิด บี-เซกเมนต์ เป็นครั้งแรกในโลกด้วย โดยใช้เครื่องยนต์ไฮบริด 1.5 ลิตร ซึ่งในไทย จะใช้รหัสเครื่องยนต์ LEB-MMD และมาเลเชีย จะใช้รหัสเครื่องยนต์ LEB-H5 พร้อมทั้งนี้ ได้เพิ่มระบบความปลอดภัยขั้งสูงที่ทางฮอนด้าเรียกว่า Honda SENSING มาอยู่ในรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน

ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก e:HEV

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก e:HEV เป็นรถแฮทช์แบ็กที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริด เป็นครั้งแรกในโลก โดยเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร i-MMD อุปกรณ์เสริม และความปลอดภัยต่าง ๆ จะเหมือนกันกับในรุ่นซีดาน แต่รูปร่าง จะเหมือนกันกับในรุ่นแฮทช์แบ็ก

ซึ่งในประเทศไทย ได้เปิดขายในราคาที่ 849,000 บาท และมีเพียงรุ่นเดียวคือ e:HEV RS

ปรับโฉมใหม่ (2023)

ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ โฉมไมเนอร์เชนจ์ ที่มาพร้อมความสปอร์ตยิ่งขึ้นด้วยดีไซน์ใหม่รอบคัน กับขุมพลังที่มีให้เลือก 2 รูปแบบทั้งฟูลไฮบริด e:HEV และขุมพลัง VTEC TURBO 1.0 ลิตร รวมทั้งยังได้รับเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda SENSING) ที่ติดตั้งในทุกรุ่นย่อย เคาะราคาจำหน่ายระหว่าง 629,000 – 839,000 บาท

ความเปลี่ยนแปลงของ Honda City Minorchange มีดังนี้

  • ตัด รุ่นย่อย 1.0 Turbo S แล้วเพิ่ม รุ่นย่อย e:HEV SV มาแทนที่
  • เพิ่ม ระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ, ระบบความปลอดภัย Honda SENSING ทุกรุ่นย่อย
  • เพิ่ม ระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ Low-Speed Follow และ ช่องชาร์จไฟ USB Type-C 2 ตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง รุ่น e:HEV
  • เปลี่ยน กระจังหน้า แบบรังผึ้ง Honeycomb, กันชนหน้า และ กันชนหลังดีไซน์ใหม่
  • เพิ่ม สเกิร์ตด้านข้าง รุ่น RS
  • เปลี่ยน ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ ขนาด 15 – 16 นิ้ว, ขนาดยางล้อ 16 นิ้ว เป็นขนาด 185/60R16 (เดิม 185/55R16), หน้าจอ Multi-information Display รุ่น 1.0 Turbo เป็นแบบสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว
  • เพิ่ม ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ Lead Car Departure Notification System, ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ Walk Away Auto Lock, ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท Remote Engine Start
  • เปลี่ยน วัสดุหุ้มเบาะนั่งในรุ่น RS เป็นหนังและหนังสังเคราะห์ทั้งตัว / วัสดุหุ้มคอนโซลหน้ารุ่น SV เป็นหนังสังเคราะห์สีแดงเข้ม / วัสดุหุ้มแผงประตูรุ่น SV เป็นหนังสังเคราะห์สีแดงเข้ม
  • เพิ่ม ไฟเตือนให้ตรวจสอบเบาะนั่งด้านหลัง Rear Seat Reminder

ปรับราคารุ่น 1.0 Turbo เพิ่มขึ้น 10,000 – 20,000 บาท (เริ่มต้นที่ 629,000 บาท)

สำหรับราคาจำหน่าย Honda City 2023 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย 1.0 Turbo V, 1.0 Turbo SV, 1.0 Turbo RS, e:HEV SV และ e:HEV RS

ข้อมูลระบบขับเคลื่อน

ดูเพิ่ม

  • ข้อมูลของฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ โดย ฮอนด้าประเทศไทย จำกัด เก็บถาวร 2013-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Thai Honda City Club เว็บไซต์กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ Honda City ในประเทศไทย
  • รายการรถที่ได้รับรางวัล Thailand Car of the Year 2009 เก็บถาวร 2009-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ทดลองขับ ซิตี้ โฉมที่ 5 โดย Caronline.net เก็บถาวร 2009-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Honda City แคตตาล็อก เก็บถาวร 2010-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • แคตตาล็อก เก็บถาวร 2013-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Honda City 2014 แคตตาล็อก เก็บถาวร 2019-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

Text submitted to CC-BY-SA license. Source: ฮอนด้า ซิตี้ by Wikipedia (Historical)






Text submitted to CC-BY-SA license. Source: by Wikipedia (Historical)






Text submitted to CC-BY-SA license. Source: by Wikipedia (Historical)


มิตซูบิชิ แลนเซอร์


มิตซูบิชิ แลนเซอร์


มิตซูบิชิ แลนเซอร์ (Mitsubishi Lancer) เป็นรถรุ่นหนึ่ง ผลิตโดย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับ ฮอนด้า ซีวิค โตโยต้า โคโรลล่า และ นิสสัน ซันนี่ คือ เป็นรถรุ่นที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการใช้เป็นรถครอบครัวและรถสปอร์ตในคันเดียวกัน เพราะแลนเซอร์,ซีวิค,โคโรลล่าและซันนี่ จะไม่เล็กเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้มันเป็นรถครอบครัว แต่ก็จะมีสมรรถนะสูง เล็ก เพรียว กระชับ ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้มันเป็นรถสปอร์ต และมีราคาที่ถูก ดังนั้น รถสี่รุ่นในสี่ยี่ห้อนี้ จึงสามารถพบเห็นได้มากตามท้องถนน

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เริ่มผลิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน ผลิตรถออกมาทั้งสิ้น 10 รูปโฉม (Generation) และมียอดขายรวมทั่วโลก กว่า 6 ล้านคัน

แลนเซอร์ โฉมที่ 1-7 จัดอยู่ในประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) ส่วนโฉมที่ 8 เป็นต้นมา จัดอยู่ในประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car)

Generation ที่ 1 (พ.ศ. 2516 - 2523; A70)

โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทยมักเรียกว่า โฉมไฟแอล เนื่องจากไฟท้ายรถมีลักษณะเหมือนตัว L ในด้านซ้าย และ L กลับข้างในด้านขวา (ตัว L กลับหน้ากลับหลังเข้าหากัน) โฉมนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในวงการแข่งขันแรลลี่ มีการผลิตรถรุ่นนี้ถึง 12 โมเดล ตั้งแต่โมเดลมาตรฐานเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ไปจนถึงโมเดลสปอร์ตแรลลี่ เครื่องยนต์ 1600 ซีซี GSR

มีตัวถัง 3 แบบ คือ Coupe 2 ประตู, Sedan 4 ประตู และ Station wagon 5 ประตู (จริงๆ แล้วมีตัวถัง Sedan 2 ประตูด้วย แต่ไม่เป็นที่รู้จักนัก)

โฉมนี้ ถูกส่งออกไปหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย , สหรัฐอเมริกา รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งจะมีการตั้งชื่อเรียกใหม่ในบางประเทศ เช่น ในออสเตรเลีย จะเรียกแลนเซอร์ว่า Chrysler Valiant Lancer และในสหรัฐอเมริกา เรียกแลนเซอร์ว่า Dodge Colt

  • รุ่นนี้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2517-2523

Generation ที่ 2 (พ.ศ. 2523 - 2531; EX/A170)

โฉมนี้ พ่อค้ารถและวงการรถไทยเรียกโฉมนี้ว่า โฉมกล่องไม้ขีด ซึ่งโฉมนี้ได้รับการพัฒนามากในเรื่องของประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ในเรื่องของการใช้น้ำมันให้คุ้มค่ามากขึ้น การลดปริมาณเสียงในห้องโดยสาร และการผสมผสานเทคโนโลยีรถสปอร์ตเข้าไปเพื่อให้ผู้ซื้อรถสามารถสัมผัสความเป็นรถสปอร์ตได้บ้างในราคาที่ไม่แพง

แลนเซอร์โฉมนี้แทบทุกคัน เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์ประเภท JET ซึ่งไม่เหมือนกับเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์และหัวฉีดทั่วๆ ไป ตั้งแต่แบบอ่อนๆ 70 แรงม้า ไปจนถึงเวอร์ชันที่ “แรงสุดขั้ว” คือ 1,800 GSR เครื่องซิริอุส 4G62 เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุดถึง 135 แรงม้า และในปี 2526 เพิ่มอินเตอร์คูลเลอร์มา ทำให้แรงม้าปรับไปเป็น 165 แรงม้า และแรงสุดในเวอร์ชันตัวที่ผลิตมาเพื่อ “แรลลี่” คือ 2,000 EX เครื่องยนต์ 4G63 เทอร์โบ 170 แรงม้า และยังมีเวอร์ชันแรลลี่ ที่โมดิฟายได้ถึง 280 แรงม้า เพื่อลงแข่งรายการ 1,000 Lakes Rally แต่ขายคนธรรมดาเป็นเวอร์ชันพิเศษ เพื่อให้ผ่านกฏข้อบังคับของ Production Car แต่กลับประหยัดน้ำมันได้ดี คือ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเมื่อวิ่งในเมือง 9.8 กิโลเมตรต่อลิตร และ 15.8 กิโลเมตรต่อลิตรเมื่อวิ่งในชนบท ซึ่งนับว่าประหยัดมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน และความแปลกใหม่ของเครื่องยนต์ และสมรรถนะที่ดี ก็เป็นอีกจุดขายหนึ่ง ที่ทำให้แลนเซอร์โฉมนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2523-2528

Generation ที่ 3 (พ.ศ. 2525 - 2528: แลนเซอร์พื้นฐานมิราจ)

โฉมที่ 3 ผลิตในช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันกับโฉมที่ 2 มักทำตลาดในชื่อ Lancer Fiore ในหลายจุด ยกเว้นในแถบออสเตรเลีย จะใช้ชื่อ Mitsubishi Colt และในแถบอเมริกา ใช้ชื่อ Dodge Colt ซึ่งพัฒนามาจากรถรุ่น Mitsubishi Mirage ซึ่งได้รับกระแสตอบรับพอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน แลนเซอร์กับมิราจก็จัดเป็นรถขนาดเดียวกัน และกลายเป็นว่า มิตซูบิชิมีรถขนาดเล็กมากสองรุ่น ที่ขัดขาแย่งยอดขายกันเอง

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2526-2528 ในประเทศไทยจะมีชื่อเล่นว่า รุ่น กล่องไม้ขีด

Generation ที่ 4 (พ.ศ. 2528 - 2539: แลนเซอร์พื้นฐานมิราจ C-series)

โฉมนี้ เป็นโฉมที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่ซ้อนทับกับโฉมที่ 2 มีรูปทรงคล้ายกัน แต่มีความเป็นรถธรรมดามากขึ้น ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดขับเคลื่อนล้อหน้าธรรมดา ไม่ใช้เครื่องยนต์ที่แปลกดังโฉมที่ 2 แต่ก็มีความทันสมัย เพราะระบบเครื่องยนต์หัวฉีด แทบไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น สมัยนั้นรถที่เป็นหัวฉีดส่วนใหญ่เป็นรถแข่ง รถสปอร์ตเต็มขั้น หรือรถหรูๆ จากตะวันตกเท่านั้น นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นระบบคาร์บูเรเตอร์ การนำระบบหัวฉีดมาใช้ในรถทั่วไปในสมัยนั้นจึงเป็นความทันสมัยอย่างหนึ่ง และระบบขับเคลื่อนล้อหน้า สมัยนั้นก็ไม่ค่อยมีเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหลัง ทำให้มีการนำแลนเซอร์โฉมที่ 4 ไปปรับแต่งเป็นรถสปอร์ตกึ่งครอบครัวเป็นจำนวนมาก และในประเทศไทย โฉมนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Champ เป็นการนำรุ่นล่างสุดมาใช้ชื่อ 3 รุ่น คือ แชมป์, แชมป์ทู และแชมป์ทรี

Champ

โดยผลิตระหว่างปี พ.ศ. 2528-2539 มีทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู และ สเตชันเวกอน 5 ประตู ในช่วงแรกที่เปิดตัวนั้น Lancer โฉมนี้ นับเป็นรถที่มีเครื่องยนต์และรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ 1,300 ซีซี , 1,500 ซีซี และรุ่นสูงสุดและเป็นตัวแรงในสมัยนั้นอีกคันก็คือ รุ่น 1,600 ซีซี ติดเทอร์โบ ใช้ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ โดยมิตซูบิชิตั้งชื่อทางการตลาดในแต่ละรุ่นว่า Lancer 1300, Lancer 1500 และ Lancer 1600 Turbo

Champ II

ในปี 2531 มีการปรับปรุงเล็กน้อย รุ่นเครื่อง 1,600 ซีซี Turbo ถูกตัดออกไป เหลือแค่เครื่อง 1,300 ซีซี ทำตลาดในชื่อ Champ II แล้วคาดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า New Generation Power ใช้เครื่องยนต์รหัส 4G13 4 สูบเรียง OHC 1,298 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ อัตราส่วนกำลังอัด 9.8 : 1 มีแรงม้า 71 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ช่วงปีหลังๆ มีรุ่น 3 ประตูท้ายตัดเครื่อง 1,500 ซีซี ออกมาขาย และรุ่น 1.5 กลับมาขายอีกครั้ง ใส่ล้อแม็กลายใหม่จาก Enkei เปลี่ยนชื่อจาก Lancer 1500 เป็น Lancer 1.5 หน้าปัดแบบดิจิตอล ในปี 2533 มีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ มีพวงมาลัยเพาเวอร์ให้ด้วย

Champ III

ในช่วงปลายอายุตลาด รุ่น 1,500 ซีซี ถูกปลดระวางไป รุ่น 1,300 ซีซี ยังอยู่ในชื่อ Champ III และ Catalytic Champ (ติดเครื่องกรองไอเสีย) ซึ่ง Mitsubishi เล็งเอาไว้จับตลาดล่างๆ ยิ่งกว่านั้นได้เคยมีการนำรุ่น 1,300 ซีซีไปขยายความจุเป็น 1,500 ซีซี เพื่อรองรับตลาดแท็กซี่มิเตอร์ และมีพรีเซนเตอร์หลายคน แตกต่างกันไปตามชนิดของตัวถัง ที่จะใช้พรีเซ็นเตอร์แตกต่างกันไป เช่น ลลิตา ปัญโญภาส หัทยา วงษ์กระจ่าง เป็นต้นและไม่มีการนำ Generation ที่ 5 มาทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจาก Mitsubishi Motors ได้ลงทุนเครื่องจักรครั้งใหญ่ เพื่อหวังจะส่งออกไปขายยังแคนาดา ไซปรัส ฯลฯ เพื่อให้คุ้มทุน จึงไม่มีการนำรุ่นที่ 5 มาขายในประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว แลนเชอร์โฉมนี้ยังช่วยให้มิตซูบิชิ ทำรถส่งออกไปขายแคนาดา และอิสราเอล ไซปรัส เป็นรายแรกของประเทศไทย (แม้จะมีกระแสข่าวลือว่ามีการตีกลับก็ตาม) "จนกระทั่งเมื่อปี 2531 นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์เอ็มเอ็มซี สิทธิผล สามารถส่งออกรถยนต์มิตซูบิชิ แลนเซอร์ แชมป์ ซึ่งประกอบในประเทศไทยไปจำหน่ายยังประเทศแคนาดา ถือเป็นยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก้าวสำคัญก้าวหนึ่งเลยทีเดียว เพราะบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงการผลิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งอยู่บนมาตรฐานที่ต่างชาติยอมรับ"

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2528-2539
  • รุ่นนี้เริ่มมีคนเอาไปทำเป็นแท็กซี่แล้ว

Generation ที่ 5 (พ.ศ. 2531 - 2534: แลนเซอร์พื้นฐานมิราจ C61A–C77A)

โฉมนี้ ได้มีการออกแบบรถใหม่ให้ดูลู่ลมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวถังออกแบบให้คล้ายๆ มิตซูบิชิ กาแลนต์ โฉมนี้ เน้นการผลิตรถแบบ station wagon กับ sedan

ในบางประเทศ มีการนำแลนเซอร์ไปทำเป็นรถตู้ Van แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม และโฉมนี้ ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย

  • รุ่นนี้ไม่มีขายในประเทศไทย

Generation ที่ 6 (พ.ศ. 2534 - 2539; CA/CB/CC/CD)

โฉมนี้ เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย วงการรถตั้งชื่อโฉมนี้ว่า โฉม E-CAR ซึ่งมีการนำเข้า(CBU)มาขายเป็นจำนวนมาก มีความทนทาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 22 ปี ก็ยังสามารถเห็นแลนเซอร์โฉมนี้ได้ทั่วไปตามท้องถนน ในประเทศไทย แลนเซอร์โฉมนี้ มีทั้งการใช้เป็นรถส่วนตัว รถครอบครัว และแต่งเป็นรถสปอร์ต ตอนเปิดตัวครั้งแรกเรียกว่าปูพรมถล่มกันเลย เริ่มตั้งแต่จ่ายน้ำมันด้วยคาบูเรเตอร์ในรุ่น 1300 GL, 1500 GLX ส่วนรุ่นหัวฉีดจะเป็น 1600 GLXi และ 1800 GTi

เมื่อปี พ.ศ. 2535 Lancer E-CAR มีรุ่นย่อยดังนี้

  • 1.3 GL (4G13 SOHC)
  • 1.5 GLX (4G15 SOHC 12 Valve)
  • 1.6 GLXi (4G92P SOHC 16 Valve Direct injection; นำเข้าทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น )
  • 1.8 GTi (4G93 DOHC 16 Valve MPI; นำเข้าทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น )

จากนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้แนะนำ Lancer Evolution ด้วยพื้นฐานของการใช้โครงสร้างตัวถังที่มีน้ำหนักเบาและมีขนาดที่เหมาะสม Lancer ใหม่ มาพร้อมกับระบบเครื่องยนต์เทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์ 4G63 ที่ให้แรงบิดที่สมบูรณ์แบบควบคู่ไปกับการทำงานของระบบ 4WD แบบ Full-Time

เครื่องยนต์ได้รับการดัดแปลงเพื่อผลิตให้แรงม้าสูงสุดถึง 250 PS การลดน้ำหนักของตัวรถถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างตัวถังให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งผลให้ Aerodynamics ของรถมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบช่วงล่างและระบบกันสะเทือน

ตกแต่งภายในด้วยเบาะ Recaro พร้อมพวงมาลัยสำหรับรถแข่ง Momo และ Lancer Evolution สามารถขายได้หมดภายในไม่กี่วันหลังจากเปิดตัว

ต่อมาเมื่อปี 2538 Lancer E-CAR ได้ยกเลิกการจำหน่าย 1.3 ลิตรไปเพราะไปทับเส้นกับ Lancer Champ ที่ยังขายได้อยู่ และ เปลื่ยนระบบจ่ายเชี้อเพลิงในรุ่น 1.5 จากคาร์บูเรเตอร์เป็นระบบหัวฉีด ECi-MULTI และนำรุ่น 1.6 กับ 1.8 มาประกอบในประเทศ แตในที่สุด รุ่น 1.8 ได้ยกเลิกการจำหน่ายหลังจากปรับโฉมครั้งแรก โดยคงเหลือรุ่นย่อย คือ

  • 1.5 GLXi
  • 1.6 GLXi (ผลิตในประเทศ)
  • 1.8 GTi (ผลิตในประเทศ; ยุติลงหลังจากปรับโฉมครั้งแรก)

หลังจากนั้นมีการปรับโฉมเล็กน้อยในรุ่น 1.5 โดยขอบประตูจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ซึ่งของเดิมเป็นสติกเกอร์สีดำ เปลื่ยนกระจังหน้าใหม่แบบซี่ และเพิ่มไฟเบรกดวงที่สามในห้องโดยสาร และในรุ่น 1.6 มีการเปลื่ยนล้อแม็กซ์เป็นขนาด 14 นิ้ว เพิ่มไฟตัดหมอกหน้า และสปอยเลอร์หลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และปรับเปลื่ยนฝาครอบชุดดรัมเบรกหลัง

E-Car นับจากปี 2538 เป็นต้นมา เปลื่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ใช้น้ำยาเบอร์ R134A ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลดการใช้น้ำยาแอร์แบบ R12

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 Lancer E-CAR โฉมสุดท้าย ได้ปรับโฉมโดยเปลื่ยนล้อแม็กซ์ลายใหม่ เปลื่ยนกันชนให้มีลักษณะยาวและหนาขึ้น รวมถึงเปลื่ยนกระจังหน้าใหม่ เปลื่ยนท่อร่วมไอดีในรุ่น 1.5 โดยตัวอักษรคำว่า ECi-MULTI จะเล็กลง และนำรุ่น 1.3 กลับมาเพื่อตอบสนองลูกค้าระดับล่าง โดยมีรุ่นย่อย ดังนี้

  • 1.3 EL
  • 1.5 GLXi
  • 1.6 GLXi

แต่ว่า ในตัวถังนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์สได้สร้างรถรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นเนื้อหน่อของแลนเซอร์ ซึ่งรถรุ่นที่ "แตกหน่อ" ออกมานี้ คือ Mitsubishi Lancer Evolution ซึ่งมีสมรรถนะสูงกว่าแลนเซอร์ธรรมดา เนื่องจากสร้างมาสำหรับการเป็นรถสปอร์ตแรลลี่โดยเฉพาะ แต่แลนเซอร์ อีโวลูชัน ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยนัก ด้วยเพราะผู้ซื้อนิยมนำรถแลนเซอร์ธรรมดาไปแต่งสปอร์ตเองมากกว่า นอกจากนี้ อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของไทยในยุคนั้นที่ค่อนข้างสูง ก็มีผลทำให้รถแลนเซอร์ อีโวลูชัน (ของจริง) ซึ่งผลิตในต่างประเทศ มีราคาในประเทศไทยแพงกว่ารถแลนเซอร์ทั่วไปมาก

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2535-2539

Generation ที่ 7 (พ.ศ. 2538 - 2544)

โฉมนี้ แลนเซอร์ออกแบบมาคล้ายคลึงกับโฉมที่ 6 อย่างมาก ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นๆ จะมีอยู่สองจุดคือ ไฟท้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อน ต่างจากโฉมที่ 6 ซึ่งมีไฟท้ายเป็นแถบคาด และไฟหน้าของโฉมที่ 7 จะเหลี่ยมกว่า โฉมที่ 6 ส่วนอื่นคล้ายกันมาก เมื่อมองเผินๆ จะนึกว่าเป็นโฉมเดียวกัน ดังนั้น ในวงการรถไทยจึงตั้งชื่อโฉมว่า โฉมท้ายเบนซ์ เพื่อแยกความแตกต่างออกจากโฉม E-CAR

ส่วนสิ่งที่ Lancer ท้ายเบนซ์ ต่างจาก E-CAR คือ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง เป็น Inveccs II Sporttronic ระบบใหม่ และเครื่องยนต์ที่เพิ่มปริมาตรกระบอกสูบ แบ่งรุ่นย่อย ดังนี้

  • 1.5 GLXi
  • 1.5 GLXi Limited
  • 1.6 GLXi
  • 1.8 SEi

และต่อมาได้แตกออกมาเป็นรุ่น F-Style โดยมีเครื่องยนต์ปริมาตรความจุ ดังนี้

  • 1.6 GLXi Limited
  • 1.8 SEi Limited

อย่างไรก็ตาม โฉมนี้ก็จัดเป็นอีกโฉมหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มีการนำไปแต่งเป็นรถสปอร์ต นอกเหนือจากการใช้เป็นรถส่วนตัวและรถครอบครัว เช่นเดียวกับโฉมเดิม และปัจจุบัน ก็ยังสามารถพบเห็นรถโฉมนี้ได้ทั่วไปเช่นกัน และมิตซูบิชิยังผลิตแลนเซอร์รุ่นที่ 7 จากโรงงานส่งป้อนตลาดอยู่ในบางประเทศ เช่น ประเทศเวเนซุเอลา ถึงแม้จะออกแบบมานานถึง 16 ปีแล้ว มีการไมเนอร์เชนจ์เมื่อปี 2542 และไมเนอร์เชนจ์อีกครั้งเป็นรุ่น F-Style เมื่อปี 2543

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2539-2544

Generation ที่ 8 (พ.ศ. 2543 - 2556)

แลนเซอร์ทุกรุ่นในประเทศไทยที่ออกหลังโฉมท้ายเบนซ์ จัดอยู่ใน Generation ที่ 8 รวมถึงโฉมปัจจุบันที่ยังขายในประเทศไทยด้วย ซึ่งโฉมนี้ จัดได้ว่าเป็นโฉมที่แลนเซอร์มีหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่รู้จักในไทยของโฉมที่ 8 คือโฉม Lancer Cedia ที่ขายในช่วง พ.ศ. 2544-2547 และปรับโฉมตามภาพที่แสดง และเพิ่มทางเลือกคือ New Lancer E20 และ Lancer CNG ที่ขายในไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน และในโฉมนี้ ใช้ระบบส่งกำลัง INVECS III CVT 6 Speed แต่การทำงานต่างกับที่ใส่ใน Lancer EX ตัวปัจจุบัน

รุ่นปี 2001-2004 LANCER CEDIA (Century Diamond)
  • 1.6 GLX Manual
  • 1.6 GLXi CVT
  • 1.6 GLXi Limited
  • 1.8 SEi Limited
รุ่นปี 2004 (ท้ายปี)- 2007 (กลางปี) LANCER NEW CEDIA (Minor Changed)

รุ่นปี 2004-2005 กันชนด้านหน้าและหลังจะเป็นแบบสั้น

  • 1.6 GLX Manual
  • 1.6 GLX CVT
  • 1.6 GLX Leather Package
  • 1.8 SEi
  • 2.0 SEi AT-Tiptronic +/- ไฟท้ายรมดำ
รุ่นปี 2006-2012 New LANCER
  • 1.6 GLX Manual
  • 1.6 GLX CVT
  • 1.6 GLX Leather Package
  • 1.6 Ralliart Limited Edition CVT ไฟหน้า ไฟท้ายรมดำ ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ เบาะคู่หน้าของRecaro
  • 2.0 Ralliart version 2005 AT-Tiptronic +/- พวงมาลัย evo7 ไฟหน้ารมดำ ไฟท้ายใส ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ
  • 2.0 Ralliart version 2006 AT-Tiptronic +/- พวงมาลัย evo7 GTA ไฟหน้ารมดำ ไฟท้ายใส ชุดพาร์ตรอบคัน ภายในโทนสีดำ เรือนไมล์สีขาว 3 วง

รุ่นปี 2008 ทุกรุ่นรองรับ E20 และ CNG โดยยกเลิกรุ่น2.0 Ralliart และ 1.6 Ralliart Limited Edition ยังมีขายอยู่แต่ไม่มีเบาะRecaroแล้ว

และปี 2009 ยกเลิกรุ่น1.6 Ralliart Limited Edition แล้วขายไปเรื่อยๆจนหมดอายุตลาด

ปี 2012 รหัสเลขตัวถังรุ่นสุดท้ายคือ CS3A และใช้เครื่องยนต์รุ่น 4G18 โดยหยุดทำการตลาดในประเทศไทย ตามข้อตกลงการร่วมทุนระหว่างนิสสันและมิตซูบิชิ

โฉมนี้ เป็นโฉมที่สามารถขยายตลาดส่งออกได้ดีมาก แลนเซอร์โฉมนี้มีในทวีปอเมริกาเหนือ, ออสเตรเลีย, ปากีสถาน, อินเดีย, เม็กซิโก, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

แม้ปัจจุบันนี้ แลนเซอร์ในตลาดสากลจะก้าวเข้าสู่ Generation ที่ 9 แล้ว แต่แลนเซอร์ในประเทศไทยยังขายโฉมที่ 8 เพื่อขยายฐานลูกค้าของ Mitsubishi โดยให้แลนเซอร์โฉมนี้ และแลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ตีตลาดรถยนต์นั่ง ต่างเซกเมนต์กัน

  • รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2544-2556

Generation ที่ 9 (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2560)

โฉมที่ 9 นี้ ทาง บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำแลนเซอร์รุ่นที่ 9 นี้เข้ามาขายตั้งแต่ พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อให้แตกต่างจากรุ่นที่แล้ว คือ มีการเพิ่มเติมในส่วนของตัวอักษร EX (Exceed) ต่อจากคำว่า Lancer เนื่อจากต้องการแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจนโดย

  • Lancer โฉมที่ 1-7 ทำหน้าที่รถยนต์ B-Segment ไว้ต่อกรกับ Toyota VIOS, Honda City, Nissan March, Mazda
  • Lancer EX ทำหน้าที่รถยนต์ C-Segment ไว้ต่อกรกับ Toyota Corolla Altis, Honda Civic, Nissan Tiida, Mazda 3, Ford Focus, Cheverolet Cruze และอื่น ๆ

แม้ในประเทศไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์สจะนำ Lancer EX มาจำหน่ายในประเทศไทยช้ากว่าตลาดโลก เนื่องจากปัญหาทางการเงินของบริษัท แต่ก็ยังคงเป็นโฉมที่สมรรถนะเฉียบคมเหมือนโฉมก่อนๆ มีการใส่ระบบเกียร์ CVT 6 Speed พร้อมด้วย Sport Mode ในทุกรุ่นของ Lancer EX และเป็นเกียร์เดียวซึ่ง Lancer EX ของประเทศไทยมีขาย ตลาดส่งออกของแลนเซอร์ขยายวงกว้างขึ้นไปในทวีปอเมริกาเหนือ, ประเทศออสเตรเลีย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, ชิลี และแถบทวีปยุโรป

ทางด้านของ Lancer Evolution ก็ออกรุ่น Evolution X ออกมาเพื่อเป็นรถสปอร์ตแรลลี่อีกด้วย เช่นเดียวกับโฉมต่างๆ ก่อนหน้า

ในประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อรุ่นนี้ว่า มิตซูบิชิ กาแลนต์ ฟอร์ติส เนื่องจากกาแลนต์รุ่นจริงได้ยกเลิกการทำตลาดในญี่ปุ่นแล้ว กาแลนต์จึงเหลือการทำตลาดในแถบอเมริกาเหนือแทน (ในปี 2556 เลิกจำหน่ายแล้ว) ที่สำคัญคือ การใช้ชื่อแลนเซอร์ชื่อเดิมจึงไม่เหมาะกับการใช้ชื่อในการทำตลาดโฉมนี้ในญี่ปุ่นนัก เนื่องจากตลาดของแลนเซอร์โฉมนี้ในญี่ปุ่นได้อยู่กึ่งกลางระหว่างตลาด C-Segment และ D-Segment ส่วนประเทศไทยใช้ชื่อในการขายว่า Lancer EX เนื่องจากยังมีการขายรุ่นที่ 8 อยู่ เพราะต้องการแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจน แต่รุ่นนี้ไม่ประสบความสำเร็จในทุกตลาดที่นำเข้าไปจำหน่าย เนื่องจากหน้าตาที่ดุดันมาก สมรรถนะแนว GT ไม่เอาใจสุภาพสตรีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ C-Segment โดยเฉพาะในประเทศไทย และมีข่าวว่า Mitsubishi Lancer จะไม่มีรุ่นต่อไปที่พัฒนาโดย Mitsubishi Motors เอง เนื่องจากสถานะทางการเงินที่ในขณะนี้ต้องพึ่งพา Renault ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งมีข้อตกลงว่า Renault จะต้องผลิตรถยนต์นั่ง C-Segment ให้กับ Mitsubishi Motors เพื่อส่งไปขายในตลาดโลก และผลิตรถยนต์นั่ง D-Segment ให้กับ Mitsubishi Motors ส่งไปขายในตลาดอเมริกาเหนือ แต่ต้องผลิตจากโรงงาน Renault และอาจมีความเป็นไปได้ที่ Mitsubishi Lancer ที่เปลี่ยนตราจาก C-Segment ซึ่งก็คือรุ่น Megane ของ Renault จะไม่มาทำตลาดในไทย โดยรถยนต์นั่งที่ Mitsubishi Motors จะต้องพัฒนาต่อไปแน่นอนคือ Mirage และ Attrage และอาจจะมีรถยนต์สมรรถนะสูงสืบทอดตำนานของ Lancer Evolution ออกมาอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนั้นไม่มีแล้ว นั่นหมายความว่า Mitsubishi Motors จะต้องเน้นตลาด Eco Car ,Crossover ,SUV และรถกระบะอย่างจริงจัง โดยต้องยอมทิ้งตลาดรถยนต์ Sedan 4 ประตูไปทั้งหมด

รุ่นย่อยทั้งหมด (เดือนมีนาคม 2553)
  • เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร FFV พร้อมรองรับเชื่อเพลิง E85
    • LANCER EX GLX
    • LANCER EX GLS
    • LANCER EX GLS Limited.
  • เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
    • LANCER EX GT


สีตัวถัง
ให้เลือกทั้งหมด 7 สี ดังนี้
  • สีบรอนซ์เงิน (Cool Silver)
  • สีบรอนซ์ทอง (Platinum Beige)
  • สีเทาดำ (Eisen Grey Mica)
  • สีดำ (Pyreness Black)
  • สีแดง (Medium Red)
  • สีขาวมุก (Warm White Pearl) *สีพิเศษ เพิ่ม 10,000 บาท สำหรับ Lancer EX และ 7,000 บาท สำหรับ Lancer โฉมเก่า
  • สีน้ำตาลทอง (Quartz Brown) (เริ่มออกวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554)


รายละเอียดทางเทคนิค
รุ่น 1.8 FFV (เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร รองรับเชื้อเพลิง E85)
  • กว้างxยาวxสูง - 1,760x4,570x1,490 มม.
  • วงเลี้ยวแคบสุด - 5.0 ม.
  • เครื่องยนต์ - DOHC MIVEC 16 วาล์ว 1,800 ซีซี.
  • แรงบิด - 172 N-m/4,200
  • แรงม้า - 139 Ps/6,000
  • เกียร์ - Invects-III CVT 6 Speed พร้อม Sport Mode
  • พวงมาลัย - แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วย
  • ระบบกันสะเทือน - แม็คเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง(หน้า) และอิสระ มัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง(หลัง)
  • ดิสก์เบรก 4 ล้อ ยาง 205/60 R16
  • ได้รับรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ระดับประเทศไทย (Thailand Car of the Year 2010) ประเภทรถยนต์พลังงานทดแทนยอดเยี่ยม
รุ่น 2.0
  • กว้างxยาวxสูง - 1,760x4,570x1,490 มม.
  • วงเลี้ยวแคบสุด - 5.0 ม.
  • เครื่องยนต์ - DOHC MIVEC 16 วาล์ว 2,000 ซีซี.
  • แรงบิด - 198 N-m/4,250
  • แรงม้า - 154 Ps/6,000
  • เกียร์ - Invects-III CVT 6 Speed พร้อม Sport Mode และ Paddle Shift เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น 2.0 GT
  • พวงมาลัย - แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วย
  • ระบบกันสะเทือน - แม็คเฟอร์สัน สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง(หน้า) และอิสระ มัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง(หลัง) และ เหล็กค้ำโช้ค เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น 2.0 GT
  • ดิสก์เบรก 4 ล้อ ยาง 215/45 R18
  • ได้รับรางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ระดับประเทศไทย (Thailand Car of the Year 2010) ประเภทรถยนต์นั่งซีดานขนาดเล็ก ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2000 ซีซี

Generation ที่ 10 (พ.ศ. 2560 - 2566)

Mitsubishi Grand Lancer ปรับโฉมใหญ่ต่อชีวิตในตลาดไต้หวัน แม้ซีดานอย่าง Mitsubishi Lancer EX จะเลิกจำหน่ายในตลาดเมืองไทยแล้ว แต่ตลาดไต้หวันนั้นยังคงมีขายอยู่ และล่าสุดพวกเขาเพิ่งปรับโฉมครั้งใหญ่ Big Minor Change และวางขายในชื่อ Mitsubishi Grand Lancer รูปลักษณ์ภายนอกนั้น ใครที่ตามข่าวจะรู้ดีว่า Mitsubishi Grand Lancer เวอร์ชันไต้หวันนั้นจะคล้ายคลึงกับ Lancer เวอร์ชันจีนเลย (อ่านรายละเอียดที่ หลุด Mitsubishi Lancer 2017 ปรับครั้งใหญ่ทั้งภายนอกและภายในสำหรับตลาดจีน) ภายนอกจะมากับแนวการออกแบบยุคใหม่ของค่ายนั่นคือ Dynamic Shield โดยหน้าตาจะมาแนวๆรถ SUV รุ่นใหญ่อย่าง Outlander ซึ่งปรับเปลี่ยนใหม่หมดจาก Lancer รุ่นเก่าอย่างชัดเจน ทาง Mitsubishi ยังลงทุนเปลี่ยนเส้นสายด้านข้างใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น และปรับเปลี่ยนกรอบประตูหลังใหม่ ส่วนด้านท้ายมีการพยายามออกแบบด้านท้ายใหม่ให้ดูล้ำสมัยขึ้น นอกจากนี้ยังติดตั้งล้ออัลลอยปัดเงาดำขนาด 18 นิ้ว ภายในห้องโดยสารมีการออกแบบใหม่เกือบทั้งหมดให้ดูทันสมัยขึ้น ดีไซน์มีความคล้ายคลึงกับกระบะ Triton มีการบุหนังและเดินด้ายตะเข็บบริเวณคอนโซลเพิ่มความหรูหรา ติดตั้งระบบอินโฟเทนเมนต์หน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว พร้อมระบบนำทางและ Digital TV ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบแยกโซนซ้าย-ขวา และยังมีหน้าปัดความเร็วแบบดิจิตอลมาให้ด้วย ซึ่งระบบเหล่านี้จะมีในรุ่นย่อยบนๆ ขุมพลังนั้นทุกรุ่นจะมากับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร SOHC MIVEC 4 สูบ พละกำลัง 140 แรงม้า PS พร้อมแรงบิด 176 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT INVECS-III อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.7 กิโลเมตรต่อลิตร นอกจากนี้ Grand Lancer ยังได้รับการปรับปรุงในเรื่องของการเก็บเสียงและการดูดซับแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่รุ่นย่อยล่างๆ ระบบความปลอดภัยในรถก็จะมีระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS , ระบบกระจายแรงเบรก EBD , ระบบเสริมแรงเบรก BA , ระบบควบคุมการทรงตัว , ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน , จุดยึดเบาะนั่ง ISOFIX , ถุงลมนิรภัย 6 ใบ ราคาค่าตัวของ Mitsubishi Grand Lancer ในไต้หวันเริ่มต้นที่ 679,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 772,612 บาทไทย) จนไปถึง 819,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 931,913 บาทไทย) และรุ่นนี้ไม่มีแผนนำเข้ามาขายในไทยครับ

Mitsubishi Motors เตรียมถอนทัพออกจากจีน

เกียว​โด​นิวส์​ (28​ ก.ย.)​ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป กำลังพิจารณาถอนการผลิตรถยนต์ในจีน เนื่องจากยอดขายตกต่ำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ส หยุดการผลิตในจีนเมื่อเดือนมีนาคมเนื่องจากยอดขายลดลงและการเพิ่มขึ้นของแบรนด์ท้องถิ่น ขณะนี้มีแผนที่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศจีน บริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นหลักที่โรงงานในมณฑลหูหนาน ภายใต้การร่วมทุนกับกวางโจว​ ออโตโมไบล์ กรุ๊ป​ (Guangzhou Automobile Group)​ โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส แห่งเดียวในประเทศ

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นเรือธง Outlander รุ่นไฮบริดสำหรับตลาดจีนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา​ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะพลิกกลับยอดขายที่ซบเซา​ แต่นั่นพิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าไปยังรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดและส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นของแบรนด์ท้องถิ่นในจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เจ้าหน้าที่ของบริษัทกล่าวว่า มิตซูบิชิกำลังเจรจากับพันธมิตรด้านการผลิตในท้องถิ่น แต่ไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ มิตซูบิชิ ไม่ใช่บริษัทญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวที่ต้องดิ้นรนกับยอดขายที่ซบเซาในจีน

แหล่งข้อมูลอื่น

  • เว็บไซต์มิตซูบิชิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ไทยแลนด์)
  • ข้อมูลมิตซูบิชิ แลนเซอร์ โฉมที่ 9 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เก็บถาวร 2010-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ศูนย์รวมผู้ใช้มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ๊กซ์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ๊กซ์ คลับ เก็บถาวร 2012-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Mitsubishi Grand Lancer ปรับโฉมใหญ่ต่อชีวิตในตลาดไต้หวัน http://carsnewupdate.blogspot.com/2017/02/mitsubishi-grand-lancer.html

Text submitted to CC-BY-SA license. Source: มิตซูบิชิ แลนเซอร์ by Wikipedia (Historical)






Text submitted to CC-BY-SA license. Source: by Wikipedia (Historical)






Text submitted to CC-BY-SA license. Source: by Wikipedia (Historical)


โตโยต้า คัมรี่


โตโยต้า คัมรี่


โตโยต้า คัมรี่ เป็นรถยนต์ตระกูลที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของรถโตโยต้า มีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ในรุ่น V และเป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง ในรุ่น XV

ในประเทศไทย คัมรี่ เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเฉพาะรุ่น XV โดยก่อนหน้านี้ รถครอบครัวรุ่นที่มีชื่อเสียงของโตโยต้า คือ โตโยต้า โคโรน่า แต่เมื่อคัมรี่ XV เข้ามา คัมรี่เริ่มแย่งความนิยมมาจากโคโรน่า จนในที่สุด ก็กลายเป็นรถครอบครัวที่ขึ้นมามีชื่อเสียงแทนโคโรน่า หลังจากนั้นไม่นาน โคโรน่าก็มีอันต้องเลิกผลิตไป

ปัจจุบัน คัมรี่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับ ฮอนด้า แอคคอร์ด, นิสสัน เทียน่า, ฮุนได โซนาต้า และอื่นๆ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีขนาดและระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ก่อนที่คัมรี่จะเข้าไทย โตโยต้า โคโรน่า ก็เคยเป็นคู่แข่งของแอคคอร์ดมาก่อน

รถตระกูลคัมรี่ กำเนิดโดยการแตกหน่อออกมาจากรถตระกูลเซลิก้า รถตระกูลเซลิก้ากำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 ในเวลานั้น เซลิก้าเป็นรถสปอร์ตที่นั่งตอนเดียว ขับเคลื่อนล้อหลัง เปิดประทุนได้ รูปตัวถัง 3 แบบ คือ Hardtop , Liftback และ Coupe เหมาะสำหรับงานแข่งรถ โดยเฉพาะการแข่งแรลลี่ หลังจากนั้น ก็ได้แยกสายการผลิตออกไปเป็นคัมรี่ สาเหตุของการแบ่งคัมรี่ออกเป็นรุ่น V และ XV เนื่องมาจาก ที่ญี่ปุ่น กำหนดเกณฑ์แบ่งขนาดของรถยนต์โดยสารออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • Kei Car คือรถที่มีขนาดยาวไม่เกิน 3,400 มิลลิเมตร, กว้างไม่เกิน 1,480 มิลลิเมตร, สูงไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร เครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 660 ลูกบาศก์เซนติเมตร กำลังสูงสุดไม่เกิน 47 กิโลวัตต์
  • 5 Number คือรถที่มีขนาดยาวไม่เกิน 4,700 มิลลิเมตร, กว้างไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร, สูงไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร และใช้เครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร กำลังสูงสุดไม่เกิน 147กิโลวัตต์
  • 3 Number คือรถที่มีขนาดตัวถังและเครื่องยนต์ใหญ่กว่าพิกัดของ 5 Number

จากการจำแนกขนาดของรถยนต์นี้ จะนำไปใช้คิดอัตราการจ่ายภาษีในด้านต่างๆ รถยนต์ประเภท Kei Car จะเสียภาษีต่ำที่สุด, 5 Number จะจ่ายภาษีปานกลาง และ 3 Number จะจ่ายภาษีหนักที่สุด ในรุ่นแรกๆ ของคัมรี่นั้น ใช้รหัสตัวถัง V ในยุคนี้โตโยต้าพยายามจะตรึงขนาดตัวถังและเครื่องยนต์ไว้อยู่ที่ระดับ 5 Number เพื่อให้เสียภาษีในอัตราต่ำ ทำให้คัมรี่ในยุคแรกนี้ยังจัดอยู่ในระดับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือ C-Segment (ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับที่โตโยต้า โคโรลล่า อัสติส เป็นในปัจจุบัน แต่เนื่องจากในยุคนั้น โคโรลล่าเองยังเป็นรถขนาดเล็กมาก หรือ B-Segment ห่างจากคัมรี่ 1 ขั้นเต็ม คัมรี่จึงมีที่ยืนทางการตลาด)

ต่อมา รถรุ่นใหม่ๆ เริ่มออกมามีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งค่ายโตโยต้า และค่ายอื่น โตโยต้าจึงต้องพยายามออกแบบคัมรี่ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่คัมรี่รุ่นที่มีอยู่ (รหัส V) ใหญ่จนถึงขีดจำกัดของพิกัด 5 Number ของญี่ปุ่นแล้ว รถที่ใหญ่กว่านี้แม้เพียงเล็กน้อยจะจัดอยู่ในพิกัด 3 Number ทันที และจะทำให้ค่าภาษีของคัมรี่ในญี่ปุ่นสูงขึ้นอย่างมาก โตโยต้าจึงตัดสินใจ แยกเป็นสองคัมรี่ คัมรี่แรก คือคัมรี่ที่พัฒนาต่อจากเดิม ตรึงขนาดไว้ที่ 5 Number ขายเฉพาะในญี่ปุ่น คัมรี่สอง ออกแบบให้ใหญ่ขึ้นไปอยู่ที่ขนาดกลาง หรือ D-Degment ขายในประเทศอื่น (เนื่องจากอัตราภาษี 5 Number, 3 Number มีผลเฉพาะที่ญี่ปุ่น) โดยคัมรี่รุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ ใช้รหัสตัวถัง XV โดย XV รุ่นแรก เปิดตัวใน พ.ศ. 2534 จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป รถโคโรลล่าเองก็ได้รับการพัฒนาจนกระทั่งมีขนาดใหญ่ขึ้นใกล้เคียงคัมรี่รหัส V ในขณะที่คัมรี่ XV ก็พัฒนารุ่นใหม่ให้ขนาดใหญ่ขึ้น นั่งสบายขึ้นไปเรื่อยๆ จนคัมรี่รหัส V ไม่มีที่ยืนในตลาดอีกต่อไป ในปี พ.ศ. 2541 จึงได้ยกเลิกการใช้ชื่อคัมรี่ ไปใช้ชื่อ โตโยต้า วิสต้า และกลายเป็นรถขนาดเดียวกับโคโรลล่า และต่อมาก็ได้ยกเลิกไป โดยรหัส V รุ่นสุดท้ายที่ได้ใช้ชื่อคัมรี่คือรุ่น V40

เซลิก้า คัมรี่ กำเนิดรถตระกูลคัมรี่ (A40/A50)

ในรุ่นปี พ.ศ. 2523 ตระกูลเซลิก้า ได้มีการผลิตรถเซลิก้ารุ่นพิเศษ เป็นรถเซลิก้า ที่นั่งสองตอน ตัวถัง Sedan ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีรถสปอร์ตเข้ากับรถเก๋งทั่วไป โดยเป็นการผสมเทคโนโลยีระหว่างรถสามตระกูล โดยรับจากตระกูลเซลิก้าเป็นส่วนใหญ่ และรับจากตระกูลโคโรน่า กับตระกูลคาริน่าอีกจำนวนหนึ่ง รถเซลิก้ารุ่นพิเศษ มีชื่อว่ารุ่น "เซลิก้า คัมรี่"

รถรุ่นเซลิก้า คัมรี่ มีความใกล้เคียงกับรถรุ่นเซลิก้าธรรมดา แต่การที่ผสมผสานเทคโนโลยีสปอร์ตเข้ากับรถเก๋งทั่วๆไป ทำให้รุ่นเซลิก้า คัมรี่ มียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งรุ่นปี พ.ศ. 2525 รถเซลิก้า คัมรี่ มียอดขายสูงแซงรถรุ่นเซลิก้าธรรมดา และในบางประเทศ รถรุ่นเซลิก้า คัมรี่ เข้ามาครองตลาดแทนรถรุ่นเซลิก้าธรรมดา ทำให้โตโยต้า ค่อนข้างมั่นใจว่า "คัมรี่" สามารถยืนหยัดได้โดยไม่ต้องแอบอิงชื่อตระกูลเซลิก้า และ"คัมรี่" สามารถเป็นรถตระกูลใหม่ของโตโยต้าได้ ดังนั้น โตโยต้าจึงตั้งคัมรี่เป็นรถตระกูลใหม่ และให้เริ่มผลิตได้ทันที

รหัส V (Narrow-body)

V10 (พ.ศ. 2525-2529)

โฉมนี้ เป็นโฉมแรกของรถรุ่นคัมรี่ ผู้ออกแบบรถต้องพยายามทำให้รถตระกูลใหม่นี้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตระกูล โดยรถรุ่นนี้จะยังเหลือความเป็นคาริน่า กับความเป็นโคโรน่า ยังเหลืออยู่เล็กน้อย แต่ก็น้อยมาก และในขณะเดียวกันก็เริ่มตีตัวออกห่างจากความเป็นเซลิก้า เริ่มมีความเป็นเอกลักษณ์ของตน

รถคัมรี่โฉมนี้ จัดอยู่ในประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก มีสองตอน ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งในโฉมนี้ จะมีการผลิตตัวถัง 2 แบบ คือ Sedan 4 ประตู และ Hatchback 5 ประตู

โฉมนี้ มีระบบเกียร์ 2 แบบ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด และธรรมดา 5 สปีด มีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 1.8 ลิตร (74 แรงม้า) และ 2.0 ลิตร (92 แรงม้า)

V20 (พ.ศ. 2529-2533)

โฉมนี้ มีตั้งแต่แบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อนสี่ล้อ มีตัวถัง 2 แบบ คือ Sedan 4 ประตู กับ Station Wagon 4 ประตู

มีเครื่องยนต์ 3 ขนาด คือ 1.8 ลิตร (86 แรงม้า) , 2.0 ลิตร (110 แรงม้า) และ 2.5 ลิตร (156 แรงม้า) ซึ่งเฉพาะรุ่น 2.5 ลิตร จะเข้าข่ายจ่ายภาษีแบบ 3 Number

มีระบบเกียร์ 2 แบบ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด และ ธรรมดา 5 สปีด

V30 (พ.ศ. 2533-2537)

โฉมนี้ มีขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากในตลาดโลกนั้นโตโยต้าได้พัฒนาคัมรี่รหัส XV10 ไปทำตลาดแทนแล้ว อย่างไรก็ตาม V30 กับ XV10 พัฒนามาด้วยกัน ในเรื่องของรูปทรงเส้นสายจึงคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันที่ขนาด มีตัวทั้งสองแบบคือซีดานและฮาร์ดท็อป (เปิดประทุนหลังคาแข็ง) เน้นขายเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรสี่สูบ และ 2.0 ลิตรสี่สูบเบนซินเป็นหลัก แต่มีรุ่น 1.8 ลิตรสี่สูบสำหรับลูกค้าเน้นประหยัด และสำหรับลูกค้าญี่ปุ่นที่การจ่ายภาษีไม่เป็นประเด็นจะมีรุ่น 2.2 ลิตร เบนซินสี่สูบ 2.2 ลิตร ดีเซลสี่สูบ และ 3.0 ลิตร เบนซินหกสูบเป็นตัวเลือก

V40 (พ.ศ. 2537-2541)

โฉมนี้ มีขายเฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น มีเครื่องยนต์ 1.8 2.0 และ 2.2 ลิตร เบนซิน ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในตลาดโลก เป็นรุ่นแรกของคัมรี่ที่ติดตั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อก และถุงลมนิรภัยคู่ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับทุกรุ่น

รหัส XV (Wide-body)

XV10 (พ.ศ. 2534-2539)

โฉมนี้ ขับเคลื่อนล้อหน้า มีเครื่องยนต์ 3 ขนาด คือ

  • 2.2 ลิตร รุ่น 5S-FE 4 สูบ (130 แรงม้า)
  • 3.0 ลิตร รุ่น 3VZ-FE V6 (185 แรงม้า)
  • 3.0 ลิตร รุ่น 1MZ-FE V6 (194 แรงม้า)

มีตัวถัง 2 แบบ คือ Sedan 4 ประตู , Station Wagon 4 ประตู

มี 2 ระบบเกียร์ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด และ ธรรมดา 5 สปีดดังเดิม

ในประเทศไทย โฉมนี้เป็นโฉมแรกที่โด่งดังในไทย เปิดตัวในประเทศไทย พ.ศ. 2536 แต่ยังเป็นโฉมที่ยังไม่ผลิตในไทย (รถนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย; ผลิตในโรงงาน Toyota Motor Corporation Australia Ltd.) ดังนั้น ในวงการรถไทย จึงเรียกว่า "โฉมแรกประกอบนอก" หรือ "โฉมออสเตรเลีย" ต่อมาใน พ.ศ. 2538 มีการปรับโฉมเปลี่ยนแผงไฟทับทิมท้ายรถ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเว้าลงไปคล้ายกับลักษณะของเรือสุพรรณหงส์ ทำให้ในรุ่นท้ายๆ ของโฉมนี้ วงการรถไทย เรียกว่า "โฉมท้ายหงส์"

XV10 ในประเทศไทย แบ่งรุ่นย่อยออกเป็น 3 รุ่นดังนี้

  • 2.2GXi (มีให้เลือก เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ) เป็นรุ่นต่ำสุด
  • 2.2GXi ABS (มีให้เลือก เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด) มีระบบเบรกป้องกันล้อล็อก เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ยังไม่มีถุงลมนิรภัย ในช่วงแรกๆ โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นท็อปสุดในช่วงปี 2536 หรือปีแรกที่คัมรี่ออกขาย
  • 3.0 V6 เป็นรุ่นท็อปสุด ออกมาใน พ.ศ. 2537

ในช่วงปีสุดท้ายก่อนปรับโฉม มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

โฉมนี้จำหน่ายในประเทศไทยช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2542


XV20 (พ.ศ. 2539-2545)

โฉมนี้ ขับเคลื่อนล้อหน้า มีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 2.2 ลิตร 5S-FE (130 แรงม้า) กับ 3.0 ลิตร 1MZ-FE V6 (194 แรงม้า)

มีตัวถัง 2 แบบ คือ Sedan 4 ประตู และ Station Wagon 4 ประตู

มี 2 ระบบเกียร์ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด และ ธรรมดา 5 สปีด เช่นเดียวกับโฉมเดิม

โฉมนี้ รุ่นปีแรกๆ กับรุ่นปีท้ายๆ มีความแตกต่างกันในรายละเอียดพอควร พ่อค้ารถในไทยและวงการรถไทยจึงใช้ชื่อเรียกโฉมที่ต่างกัน โดยในรุ่นแรกๆ เรียกว่า "โฉมไฟท้ายไม้บรรทัด" (ไฟยาว) ส่วนรุ่นท้ายๆ จะเรียก "โฉมท้ายย้อย" (ไฟย้อย) แต่การขายก็ล่าช้ากว่าต่างประเทศ โดยจำหน่ายในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2542-2545 (โฉมไม้บรรทัด จำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2544 โฉมไฟย้อย จำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2544 - 2545)

ในประเทศไทย โฉมนี้ ในช่วงแรกคัมรี่ยังต้องนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย แต่ใน พ.ศ. 2543 ก็ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย (รุ่น SXV20: S + X = SX (S + XV = SXV))

ในประเทศไทยแบ่งรุ่นย่อยออกเป็น 2 รุ่นดังนี้

  • 2.2GXi (มีให้เลือก เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด) เป็นรุ่นต่ำสุด เบาะกำมะหยี่สีเทา ภายในสีเทา เครื่องปรับอากาศธรรมดา วิทยุเทป 4 ลำโพง เป็นรุ่นประหยัดที่เพิ่มเข้ามาใน พ.ศ. 2543 ภายหลังจากย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย
  • 2.2SE.G (มีให้เลือก เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เบาะกำมะหยี่, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด เบาะกำมะหยี่ และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เบาะหนัง) เป็นเกรดบนสุด เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ,วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี 6 แผ่นด้านหน้า 2DIN 6 ลำโพง ,ภายในสีเบจ ,ตกแต่งลายไม้ ,เบาะคนขับและผู้โดยสารปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง

ข้อแตกต่างของคัมรี่รุ่นไฟท้ายไม้บรรทัด ระหว่างรุ่นที่ผลิตในประเทศออสเตรเลีย กับรุ่นที่ผลิตในประเทศไทย คือ คัมรี่ออสเตรเลียที่ขายในช่วงแรก มีเฉพาะรุ่น 2.2SE.G เท่านั้น แต่จะเป็น 2.2SE.G ที่ภายในสีเทา ไม่มีลายไม้ ล้ออัลลอยก้านตรง เบาะปรับมือ ในขณะที่ 2.2SE.G รุ่นประเทศไทย จะได้ภายในสีครีม ตกแต่งลายไม้ ล้ออัลลอยก้านเฉียง เบาะปรับไฟฟ้า

ทุกรุ่นมีระบบเบรกป้องกันล้อล็อกและถุงลมนิภัยคู่หน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และหลังการปรับโฉมเป็นรุ่นไฟท้ายย้อย ได้เพิ่มไฟตัดหมอกในทุกรุ่น และตัดรุ่น 2.2SE.G เกียร์ธรรมดาออกจากสายการผลิต

XV30 (พ.ศ. 2544-2549)

โฉมนี้ ขับเคลื่อนล้อหน้า มีเครื่องยนต์ 5 ขนาด คือ 2.0 ลิตร 1AZ-FE (144 แรงม้า) , 2.4 ลิตร 2AZ-FE (152 แรงม้า) , 3.0 ลิตร 1MZ-FE ยังไม่มีระบบ VVT-i V6 (194 แรงม้า; พ.ศ. 2545) , 3.0 ลิตร 1MZ-FE มีระบบ VVT-i V6 (210 แรงม้า; พ.ศ. 2546–2549) และ 3.3 ลิตร 3MZ-FE V6 (225 แรงม้า)

มีตัวถัง 1 แบบ คือ Sedan 4 ประตู

มี 3 ระบบเกียร์ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด , อัตโนมัติ 5 สปีด และธรรมดา 5 สปีด แต่ในประเทศไทย เกียร์ธรรมดาในคัมรี่ถูกยกเลิก

ในประเทศไทย คัมรี่ขายในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2545-2549 (รหัสตัวถัง ACV30 และ ACV31) แบ่งรุ่นย่อยออกเป็น 4 รุ่นดังนี้

  • รหัสตัวถัง ACV31 เครื่องยนต์ 2.0 L 1AZ-FE
    • 2.0E เป็นเกรดต่ำสุด สำหรับขายรถ Fleet ลดอุปกณ์บางอย่างออกไปเช่น วิทยุพร้อมเครื่องเล่นเทป 4 ลำโพง ,ไม่มีระบบกันขโมย ,พวงมาลัยและหัวเกียร์หุ้มด้วยยูรีเธน ,เบาะนั่งหุ้มด้วยกำมะหยี่ (ปรับมือ) ,ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ,ไม่มีไฟตัดหมอกหน้า (รุ่นปรับโฉมปี 2004-2006 ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ,วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 1 แผ่น 4 ลำโพง)
    • 2.0G เป็นเกรดบนสุดของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร สำหรับประชาชนทั่วไป เพิ่มเข้ามาในช่วงการปรับโฉม พ.ศ. 2547 มีอุปกรณ์เพิ่มมา เช่น วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น 6 ลำโพง ,กุญแจรีโมทพร้อมสัญญาณกันขโมย ,พวงมาลัยและหัวเกียร์หุ้มด้วยหนัง ,เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ,เบาะคนขับปรับไฟฟ้า ,ไฟตัดหมอกหน้า ,ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ,ตกแต่งภายในลายไม้ (โฉมนี้มีเฉพาะรุ่นปรับโฉมปี 2004-2006)
  • รหัสตัวถัง ACV30 เครื่องยนต์ 2.4 L 2AZ-FE
    • 2.4G เป็นเกรดล่างสุดของเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร มีอุปกรณ์เพิ่มมาจากรุ่น 2.0G เช่น หน้าปัดแบบ Optiron 3 สี ,เบาะผู้โดยสารปรับไฟฟ้า ,สัญญาณกะระยะรอบคัน (ในรุ่นแรกจะเป็นล้ออัลลอย 15 นิ้ว แต่รุ่นปรับโฉมจะเป็นล้ออัลลอย 16 นิ้ว)
    • 2.4Q เป็นเกรดบนสุด มีอุปกรณ์เพิ่มมาจากรุ่น 2.4G เช่น พวงมาลัยและหัวเกียร์ตกแต่งด้วยลายไม้ ,ไฟหน้า HID ปรับระดับอัตโนมัติ ,ครูซคอนโทรล ,ม่านบังแดดหลังไฟฟ้า (ในรุ่นแรกจะเป็นล้ออัลลอยด์ 16 นิ้ว แต่รุ่นปรับโฉมจะเป็นล้ออัลลอย 17 นิ้ว และมีระบบเครื่องเสียงให้เลือก 3 แบบคือ วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น ,เครื่องเล่น DVD พร้อมจอ 6.5 นิ้ว ,ระบบนำทางในรถยนต์พร้อมกล้องถอยหลังและเครื่องเล่น DVD)

โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทย และวงการรถไทย นิยมเรียกว่า "โฉมตาเหยี่ยว" หรือ "โฉมผู้นำ" แต่บางคนก็เรียกว่า "โฉมหน้าหมู" เพราะมีลักษณะตัวถังที่คล้ายกับ โคโรลล่า อัลติส โฉมที่ 9 หรือโฉมหน้าหมู ซึ่งจำหน่ายอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เริ่มการขายในไทยระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 ซึ่งก็ยังล่าช้ากว่าต่างประเทศเช่นเคย

XV40 (พ.ศ. 2549-2554) (2006 - 2011)

โฉมนี้เปิดตัวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2549 เริ่มผลิตเมื่อรุ่นปี พ.ศ. 2550 และโตโยต้ามีแผนจะผลิตคัมรี่โฉมนี้ไป 5 รุ่นปีดังเดิม โดยมีแผนจะผลิตโฉมนี้ไปจนถึงรุ่นปี พ.ศ. 2554 โฉมนี้ จัดเป็นรถขนาดกลาง (Mid-Size Car) มีทั้งชื่อ Toyota Aurion (ในประเทศออสเตรเลีย) และ Toyota Camry

โฉมนี้ ขับเคลื่อนล้อหน้า มีเครื่องยนต์ 3 แบบ คือ 2.0 ลิตร 1AZ-FE (147 แรงม้า), 2.4 ลิตร 2AZ-FE (167 แรงม้า), 2.4 ลิตร 2AZ-FXE ไฮบริด (190 แรงม้า) และ 3.5 ลิตร 2GR-FE Dual VVT-i V6 (272 แรงม้า) มาในภายหลัง

มีตัวถังแบบเดียว คือ Sedan 4 ประตู

มี 5 ระบบเกียร์ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด (ในรุ่น 2.0 ลิตร) ,อัตโนมัติ 5 สปีด , อัตโนมัติ 6 สปีด , ธรรมดา 5 สปีด และธรรมดา 6 สปีด แต่ในประเทศไทย เกียร์ธรรมดาในคัมรี่ถูกยกเลิก

ในประเทศไทยแบ่งรุ่นย่อยออกเป็น 5 รุ่นดังนี้

  • ACV41 เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 1AZ-FE (147 แรงม้า)
    • 2.0E เป็นเกรดต่ำสุด สำหรับขายรถ Fleet ลดอุปกณ์บางอย่างออกไปเช่น วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 1 แผ่น ,กุญแจรีโมทพร้อมสัญญาณกันขโมย ,พวงมาลัยและหัวเกียร์หุ้มด้วยยูรีเธน ,เบาะนั่งหุ้มด้วยกำมะหยี่ (ปรับมือ) ,ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/60 ,ไม่มีไฟตัดหมอกหลัง ,สวิตซ์ควบคุมระบบปรับอากาศและเครื่องเสียงที่พวงมาลัย ,มือเปิดประตูและคิ้วเปิดฝากระโปรงท้ายสีเดียวกับตัวรถ ,ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
    • 2.0G เป็นเกรดบนสุดของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร สำหรับประชาชนทั่วไป มีอุปกรณ์เพิ่มมา เช่น วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น ,กุญแจรีโมทพร้อมสัญญาณกันขโมย ,พวงมาลัยหุ้มด้วยหนังสลับลายไม้ ,เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ,เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า ,ไฟตัดหมอกหน้า-หลัง ,ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/60 ,ตกแต่งภายในลายไม้ ,ครูซคอนโทรล ,ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ,มือเปิดประตูและคิ้วเปิดฝากระโปรงท้ายโครเมียม ,ไฟหน้าปรับระดังสูงต่ำได้ ,ถุงลมนิรภัยด้านข้าง
  • ACV40 เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร 2AZ-FE (167 แรงม้า)
    • 2.4G อุปกรณ์ในแง่ความสะดวกและความปลอดภัยในภาพรวมจะน้อยกว่ารุ่น 2.0G แต่จะได้สัญญาณเตือนกันชนท้าย ไฟหน้า HID ปรับระดับอัตโนมัติ
    • 2.4V เป็นเกรดบนสุดของเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร มีอุปกรณ์เพิ่มมาจากรุ่น 2.0G เช่น พวงมาลัยและหัวเกียร์ตกแต่งด้วยลายไม้ ,ไฟหน้า HID ปรับระดับอัตโนมัติพร้อม AFS ,ครูซคอนโทรล ,ม่านบังแดดหลังไฟฟ้า ,ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยาง 215/55 ,กระจกมองข้างพับอัตโนมัติ ,กุญแจอัจฉริยะ ,สัญญาณกะระยะรอบคัน (รุ่น Navi ไม่มีสัญญาณถอยหลัง) ,ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวของรถ VSC ,พัดลมเป่ากันที่เบาะคู่หน้า (มีระบบเครื่องเสียงให้เลือก 3 แบบคือ วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น ,เครื่องเล่น DVD พร้อมจอ 6.5 นิ้ว ,ระบบนำทางในรถยนต์พร้อมกล้องถอยหลังและเครื่องเล่น DVD)
  • GSV40 เครื่องยนต์ 3.5 ลิตร 2GR-FE Dual VVT-i V6 (277 แรงม้า)
    • 3.5Q เป็นเกรดบนสุด มีอุปกรณ์เพิ่มมาจากรุ่น 2.4V เช่น เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด Sequential Shift ,หลังคามูนรูฟ ,พวงมาลัยปรับไฟฟ้าพร้อมระบบบันทึกตำแหน่ง ,ระบบความปลอดภัยก่อนการชน Pre Crash ,ระบบควบคุมความเร็วแบบไดนามิกเรดาร์ ,โทนสีภายในสีดำ ,เบาะหลังปรับเอนได้ด้วยไฟฟ้า ,แผงควบคุมอุปกรณ์ที่พักแขนเบาะหลัง ,เครื่องเล่น DVD พร้อมระบบนำทาง ,กล้องมองหลัง ,ระบบ Hands Free แบบ Bluetooth ด้วยค่าตัวที่สูงถึง 2,800,000 บาท

นอกจากนั้นยังนำรุ่น 2.0G และ 2.4V 6CD/MP3 มาผลิตเป็นกรณีพิเศษจำนวนจำกัดในรุ่น Extremo โดยตกแต่งดังนี้

  • ภายนอกรถสีขาวมุก
  • ภายในรถสีดำ
  • ชุดแต่งรอบคัน
  • ล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยาง 215/55

ปรับโฉมปี 2552 (2009)

จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ขึ้นโดย

  • ให้ล้ออัลลอย 17 นิ้ว เฉพาะรุ่น 3.5Q
  • รุ่น 2.4V ถูกทำเป็น 2.4 Hybrid หมด (เปลี่ยนจาก 2AZ-FE (167 แรงม้า) มาเป็น 2AZ-FXE ไฮบริด (190 แรงม้า) ในรหัสใหม่ AHV40) และลดขนาดล้ออัลลอยเหลือ 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/60 (มีระบบเครื่องเสียงให้เลือก 3 แบบคือ วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น ,เครื่องเล่น DVD พร้อมจอ 6.5 นิ้ว ,ระบบนำทางในรถยนต์พร้อมกล้องถอยหลังและเครื่องเล่น DVD)
  • เพิ่มม่านบังแดดหลังไฟฟ้า และม่านบังแดดประตูหลัง ในรุ่น 2.0G
  • ตัดถุงลมนิรภัยด้านข้างออกในรุ่น 2.0G
  • เพิ่มระบบจัดการรวมไดนามิคของตัวรถ VDIM (Vehicle Dynamics Integrated Management) ในรุ่น Hybrid
  • เพิ่มรุ่น 2.4G โดยให้ Option เท่ากับรุ่น 2.0G หรือมากกว่านิดหน่อยเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ไม่ต้องการ Hybrid
  • รุ่น 2.0G ,2.4G ,2.4 Hybrid ระบบเครื่องเสียง วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดี/MP3 6 แผ่น เพิ่มช่องต่อ AUX

สำหรับเครื่องยนต์ไฮบริดจ้าวแรก ซึ่งนั่นเท่ากับว่าบ้านเราจะเป็นโรงงานผลิตแห่งที่ 4 ในโลกต่อจาก Toyota City ที่ญี่ปุ่น , โรงงานในเมืองจอร์จทาวน์ มลรัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา และอัลโทนา มลรัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย คือ AHV40 เป็นเครื่องยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด 2.4 ลิตร 2AZ-FXE Atkinson cycle ซึ่งเป็นการจับคู่กันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 2,400 ซีซี พร้อมระบบ VVT-I กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ซึ่งเครื่องยนต์บล็อกนี้ ใช้ระบบการเผาไหม้แบบ Atkinson Cycle มีกำลังขับเคลื่อนเฉพาะเครื่องยนต์ 147 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และจะเพิ่มสูงสุดเป็น 187 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือ CVT ส่วนหน้าที่ในการเก็บกระแสไฟฟ้าเป็นแบตเตอรี่แบบนิเกล-เมทัล ไฮดรายของพานาโซนิค (Panasonic High voltage NiMH) ขนาด 1.6 kWh มีกำลังขับเคลื่อนเฉพาะเครื่องยนต์ 147 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และจะเพิ่มสูงสุดเป็น 190 แรงม้า เมื่อรวมทั้งระบบ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือ CVT

โฉมนี้เป็นโฉมแรก ที่คัมรี่เจเนอเรชั่นใหม่ถูกนำเข้าตลาดไทย ในปีเดียวกับต่างประเทศ (เริ่มขาย พ.ศ. 2549-2555)

XV50 (พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2560) (2011 - 2017)

โฉมนี้ เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2554 โดยได้เริ่มจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคมในงานมอเตอร์โชว์ พ.ศ. 2555 มีตัวถังแบบเดียวคือตัวถังแบบซีดาน 4 ประตู

มีเครื่องยนต์ 3 รุ่นคือ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร รหัส 1AZ-FE (ACV51) ให้กำลังสูงสุด 148 แรงม้า, รหัส 6AR-FSE (ASV51) ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า, เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร รหัส 2AR-FE / 5AR-FE (ASV50) ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า และเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ไฮบริด รหัส 2AR-FXE (AVV50) ให้กำลังสูงสุด 205 แรงม้า แต่ในต่างประเทศจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกคือ 2.5 ลิตร, 2.5 ลิตร Hybrid และ 3.5 ลิตร รหัส 2GR-FE V6 (GSV50)

โตโยต้า คัมรี่ ได้ยกเลิกรุ่น 2.0E สำหรับขายรถ Fleet, Limousine และรุ่น 3.5Q และในขณะนั้นมีรุ่นย่อย 5 รุ่น ได้แก่

  • 2.5L Hybrid Navigator
  • 2.5L Hybrid DVD
  • 2.5L Hybrid CD
  • 2.5G
  • 2.0G Extremo (ทางเลือกใหม่เจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่น)
  • 2.0G รุ่นล่างสุด

ด้านความปลอดภัย คัมรี่ได้ทดสอบการชนได้ Good ใน IIHS, และได้รางวัล 5 ดาวใน ANCAP

ปรับโฉมปี 2558 (2015)

หลังจากโตโยต้า คัมรี่ ได้เปิดตัวไปในปี 2555 ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเป็นอย่างมาก เช่นกุญแจรีโมทที่คล้าย Hilux Vigo ตัวเริ่มเป็นต้น เนื่องจากมีการตัดออพชั่นหลายอย่างออกไป ทำให้โตโยต้า คัมรี่ ได้มีการปรับโฉมใหม่โดยเพิ่มระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยถุงลมนิรภัย 7 ใบ (รุ่น 2.5G ขึ้นไป)

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านถุงลม และถุงลมเข่า, ถุงลมนิรภัย 4 ใบ (ในรุ่น 2.0G และ EXTREMO) ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง
  • ระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานได้แก่
  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
  • ระบบกระจายแรงเบรกอิเล็กทรอนิกส์ EBD (Electronic Brake-force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ทำงานโดยการจ่ายน้ำมันเบรคมากกว่าปกติเพื่อเบรคในระยะฉุกเฉินได้ทัน ระยะเบรคสั้นขึ้น
  • ระบบช่วยเหลือการทรงตัวเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Control) เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเมื่อตรวจจับได้ว่าล้อไหนกำลังเสียการทรงตัวจะตัดรอบเครื่องยนต์ทันทีและเบรคล้อใดล้อหนึ่งเพื่อให้การควบคุมรถปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) ตัดรอบเครื่องยนต์เมื่อพบว่าล้อหมุนฟรีผิดปกติ หรือ เจอทางลื่น
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-start Assist Control) ทำงานช่วยเบรค 3วิเมื่อมีการถอนเท้าจากเบรคระหว่างไปคันเร่งตอนรถเคลื่อนตัวบนทางลาดชัน
  • ระบบเตือนมุมอับสายตา BSM (Blind Spot Monitor) เตือนฝั่งใดก็ได้เมื่อมีรถหรือมอเตอร์ไซค์ระนาบข้างรถของคนขับ
  • ระบบช่วยเตือนขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Taffic Alert) ทำงานที่กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง
  • กล้องมองหลังทำงานร่วมกับระบบ RCTA เตือนมุมอับสายตาขณะถอยหลังเมื่อมีรถมาด้านหลังโดยคนขับไม่รู้ตัว
  • ไฟฉุกเฉินกะพริบอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน ESS (Emergency Stop Signal) ไฟฉุกเฉินจะกระพริบรัวๆเมื่อเบรคกระทันหัน
  • Parking Sensor ด้านหน้า 2 จุด ด้านท้าย 4 จุด มีเสียงเตือนเมื่อมีสิ่งกีดขวางหรือมีบางอย่างอยู่ท้ายรถ
  • ระบบปรับไฟสูงปรับอัตโนมัติ AHB (Auto High Beam) (เฉพาะ HYBRID Premium) ไม่มีจุดกำเนิดแสงจะเปิดไฟสูง Auto ถ้ามีจุดกำเนิดแสงหรือรถยนต์ที่สวนมาจะดับไฟให้ Auto
  • ระบบป้องกันรถออกนอกช่องทาง LDW (Lane Departure Warning) (เฉพาะ HYBRID Premium) พร้อมดึงพวงมาลัยกลับมาเข้ามาเลน และ ระบบช่วยให้รถรักษากลางเลน (เมื่อใช้ร่วมกับระบบ DRCC)
  • ระบบครูสคอนโทรลแปรผันรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า DRCC (Dynamic Radar Cruise Control) (เฉพาะ HYBRID Premium)
  • ระบบเสริมความปลอดภัยก่อนการชน เรดาร์จับสิ่งกีดขวางหน้ารถพร้อมกับรัดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นขึ้นและเบรกอัตโนมัติ
  • PCS (Pre-Crash Safety) (เฉพาะ HYBRID Premium)
  • ตัวถังโครงสร้างนิรภัย TOYOTA GOA ซับแรงกระแทกอย่างดีเยี่ยมลดการยุบตัวถังเมื่อถูกชน
  • ส่วนภายนอก ได้มีการเปลี่ยนการออกแบบกระจังหน้าใหม่ตามแบบ Keen Look และปรับเปลี่ยนการออกแบบไฟท้ายใหม่


หลังจากโฉมปี 2015 ขึ้นมารุ่นย่อย 2.0G มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ใหม่ อัตราเร่งดีขึ้น และ ประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยม

ส่วนสำหรับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร โตโยต้า คัมรี่ 2015 ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์รหัส 6AR-FSE VVT-iW พร้อมหัวฉีดใหม่ D-4S ขนาดกระบอกสูบ 1,998 ซีซี กำลัง 167 แรงม้า แรงบิด 199 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติทอร์คคอนเวอร์เตอร์ 6 จังหวะ

ในรุ่นปรับโฉม มีรุ่นย่อยทั้งหมด 7 รุ่น ประกอบด้วย

  • รุ่น 2.0G ราคา 1,319,000 บาท
  • รุ่น 2.0 Extremo ราคา 1,429,000 บาท (ทางเลือกใหม่เจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่น)
  • รุ่น 2.5G ราคา 1,569,000 บาท
  • รุ่น 2.5 ESPORT (นำเข้าจาก อออสเตเรีย) ราคา 1,639,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV Hybrid CD ราคา 1,679,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV Hybrid Navigator ราคา 1,729,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV Hybrid Premium ราคา 1,899,000 บาท
  • ยกเว้น รุ่นย่อย 2.0G รุ่นย่อยอื่นได้ลำโพง JBL อีกด้วย

รุ่นปรับอุปกรณ์ปี 2559

ในปี 2559 โตโยต้า คัมรี่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใหม่ตามรุ่นย่อย ดังนี้

  • 2.5G ปรับโฉมกระจังหน้าแบบ Black Grille กระจกมองข้างปรับอัตโนมัติขณะถอยหลัง (2-Side Reverse Link & Auto Retractable) ภายในตกแต่งด้วยหัวเกียร์หุ้มหนัง ติดตั้งเครื่องเล่น DVD พร้อมลำโพง JBL Green Edge Tech เพิ่มจาก 10 ตัว เป็น12 ตัว เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนด้วย Bluetooth เชื่อมต่อแบบไร้สาย (Hands-free) และมีพอร์ท USB / VTR ระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่งของผู้ขับและกระจกมองข้าง ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ (Auto Rain Sensor) ส่วนสีภายนอกมีสีขาวมุก White Pearl เป็นสีใหม่
  • ESPORT กระจังหน้าโครเมียม เพิ่มแถบสีแดงแบบ Sport Type กันชนหลังตกแต่งด้วยแถบสีแดง ห้องโดยสารมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก สีภายนอกใหม่ แดง Super Red V
  • 2.0G กระจังหน้า Black Grille เพิ่มระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่งของผู้ขับและกระจกมองข้าง กระจกมองข้างพับ/กางอัตโนมัติ กระจกมองข้างปรับอัตโนมัติขณะถอยหลัง (2-Side Reverse Link & Auto Retractable) ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ (Auto Rain Sensor) หัวเกียร์หุ้มหนังพร้อมลายไม้พิเศษ ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านด้านข้าง หัวเข่าด้านผู้ขับ และด้านข้างเบาะหลัง
  • 2.0G Extremo : ติดตั้งสเกิร์ตสปอร์ตรอบคัน ท่อไอเสียคู่แบบสปอร์ต ล้ออัลลอย 17 นิ้วลายใหม่ ไฟส่องสว่างที่ประตูคู่หน้าพร้อมสัญลักษณ์ Extremo ห้องโดยสารตกแต่งด้วยลายไม้สีดำ พวงมาลัยสปอร์ตสีดำ เครื่องเล่น DVD พร้อมลำโพง JBL Green Edge Tech เพิ่มจาก 10 ตัว เป็น12 ตัว พร้อมระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนด้วย Bluetooth
  • 2.5HV Hybrid Premium และ 2.5HV Hybrid Navigator รองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 กระจังหน้าแบบ Mesh Radiator Black Grille ไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED เกียร์หุ้มหนังพร้อมลายไม้พิเศษ เครื่องเล่น DVD พร้อมลำโพง JBL Green Edge Tech เพิ่มจาก 10 ตัวเป็น 12 ตัว เพิ่มระบบตรวจวัดแรงดันลมยางอัตโนมัติ TPMS (Tyre Pressure Monitor System) สัญญาณเตือนจะปรากฏที่หน้าจอแสดงผล หากตรวจพบว่าความดันภายในลมยางล้อใดล้อหนึ่งลดลงเกิน 20% (รุ่น 2.5HV Premium) ถุงลมนิรภัย 9 ตำแหน่ง ประกอบด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านด้านข้าง หัวเข่าด้านคนขับ และด้านข้างเบาะหลัง (รุ่น 2.5HV Premium)

ส่วนราคามีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • 2.5 HV Premium ราคา 1,849,000 บาท (ลดลง 50,000 บาท)
  • 2.5 HV Navigator ราคา 1,659,000 บาท (ลดลง 70,000 บาท)
  • 2.5 HV CD ยุติการจำหน่าย
  • 2.5 ESPORT ราคา 1,639,000 บาท (ราคาเท่าเดิม)
  • 2.5 G ราคา 1,599,000 บาท (เพิ่มขึ้น 30,000 บาท)
  • 2.0 G Extremo ราคา 1,525,000 บาท (เพิ่มขึ้น 96,000 บาท)
  • 2.0 G ราคา 1,399,000 บาท (เพิ่มขึ้น 80,000 บาท)

โตโยต้า คัมรี่ เอสปอร์ต

โตโยต้า คัมรี่ เอสปอร์ต ได้นำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย โดยนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโตโยต้า คัมรี่ เอสปอร์ต ได้มีรูปร่างเดียวกับกับโฉมอเมริกา และใช้คอนเซปต์ในการโฆษณาว่า "Life is thrilling"

แต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่โรงงานออสเตเรียนผลิตรุ่นนี้ก่อนจะปิดตัวไปเพราะว่าต้นทุนการผลิตรถในออสเตเรียนแพงจึงไม่คุ้มการผลิต

รุ่นนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะมากเรื่องวัสดุการผลิตไม่ค่อยสมราคาจนมีคนบอกว่า นี่คือ VIOS ฉบับ Luxury ซะงั้น ออฟชั่นไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ ขนาดกระจกมองข้างพับด้วยมือในขณะที่รุ่นผลิตไทยนั้นไฟฟ้าทุกรุ่นย่อยและหรูหรากว่าจึงไม่แปลกใจ

รุ่นปรับอุปกรณ์ปี 2560

  • 2.0G Extremo : เปลี่ยนชุดแต่งใหม่

ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลายใหม่ ไฟหน้า LED Dual Projector แบบ Hybrid ไฟเลี้ยว แยกจากไฟหน้า แบบ Hybrid ภายในเปลี่ยนจากลายไม้สีดำเป็น ลายไม้คาร์บอน (Carbon Wood) วันที่ 11 กรกฎาคม 2560

  • 2.0G , 2.5G , 2.5HV HYBRID : เปลี่ยน เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง สีครีม เป็น สีน้ำตาล Kogane

เปลี่ยนภายใน สีดำตัดครีม เป็น สีดำ เปลี่ยน ตะเข็บด้ายบนแดชบอร์ด จากสีดำ เป็น สีน้ำตาล Kogane เปลี่ยน ลายไม้แบบพิเศษ เป็นลายไม้คาร์บอน (Carbon Wood) เปลี่ยน พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน เป็น 3 ก้านแบบ EXTREMO ล้ออัลลอย 17 นิ้ว พ่น Hi-Gloss (เฉพาะรุ่น Hybrid) วันที่ 19 สิงหาคม 2560

ส่วนราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง

  • 2.5 HV Premium ราคา 1,849,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.5 HV Navigator ราคา 1,659,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.5 ESPORT ราคา 1,639,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.5 G ราคา 1,599,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.0 G Extremo ราคา 1,525,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.0 G ราคา 1,399,000 บาท (เท่าเดิม)

รุ่นปรับอุปกรณ์ปี 2561

  • 2.5 HV Navigator และ 2.5 HV Premium มีการเพิ่มระบบ T-Connect TELEMATICS
    • Find My Car เช็คตำแหน่งตัวรถผ่าน Application Find My Car หรือ Apple Watch
    • Service Reminder ระบบแจ้งเตือนการบำรุงรักษารถยนต์ เมื่อถึงรอบตามระยะ
    • Service Appointment บริการนัดหมายเข้าศูนย์บริการผ่านระบบออนไลน์
    • My Message แจ้งข่าวสาร ข้อมูลส่วนลด พร้อมสิทธิพิเศษจากโครงการ Toyota Privilege
    • Parking Alert ระบบแจ้งเตือนผ่าน Notification เมื่อรถถูกสตาร์ท หรือ เคลื่อนที่
    • Stolen Vehicle Tracking ระบบตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ เมื่อถูกโจรกรรม
    • My Toyota Wi-Fi กระจายสัญญาณ เชื่อมต่อความบันเทิงได้พร้อมกันสูงสุด 9 อุปกรณ์
    • OPS (Operation Service) ผู้ช่วยค้นหาเส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการจองร้านอาหาร
    • SOS ประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
    • Roadside Service บริการประสานงานไปยังผู้แทนจำหน่ายใกล้เคียง เพื่อขอรับความช่วยเหลือบนท้องถนน
    • Health บริการประสานงานแจ้งเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์ โดยการส่งตำแหน่งที่คุณอยู่ไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)


ราคารุ่น 2.5 HV มีการเปลี่ยนราคา ส่วนรุ่นอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

  • 2.5 HV Premium Telematics ราคา 1,863,000 บาท (เพิ่มเงิน 14,000 บาท)
  • 2.5 HV Navigator Telematics ราคา 1,673,000 บาท (เพิ่มเงิน 14,000 บาท)
  • 2.5 ESPORT ราคา 1,639,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.5 G ราคา 1,599,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.0 G Extremo ราคา 1,525,000 บาท (เท่าเดิม)
  • 2.0 G ราคา 1,399,000 บาท (เท่าเดิม)

โฉมนี้จำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - 2561

XV70 หรือ 8th Generation (พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน)

โตโยต้า คัมรี่ โฉมนี้ได้เปิดตัวครั้งแรก ในงานดีทรอยต์ออโต้โชว์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 เริ่มขายเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 และต่อมาเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 หลังจากนั้นก็จะเริ่มจะยอยเปิดตัวในประเทศไทย ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2560 หรือต้นปี พ.ศ. 2561 โดยโฉมนี้จะเป็นโฉมที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก (รุ่นโกลบอล)เป็นครั้งแรกที่ขายแบบ โกลบอลไม่แยกตัวถังเหมือนรุ่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

โตโยต้า คัมรี่ โฉมนี้ได้สร้างภายใต้แพลทฟอร์ม Toyota New Global Architecture ซึ่งได้ใช้ร่วมกันกับ โตโยต้า พริอุส ไฮบริดแฮทช์แบ็กรุ่นที่ 5 และ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ที่เป็นเอสยูวีครอสโอเวอร์TNGA คือ แพตลฟอร์มของ โตโยต้า ยุคใหม่ที่การขับขี่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม

โดยแต่ละรุ่นจะมีกระจังหน้าที่แตกต่างกัน โดยรุ่นธรรมดาจะมีกระจังหน้าอีกแบบหนึ่งและรุ่นไฮบริดก็จะมีกระจังหน้าอีกแบบหนึ่ง

รุ่นย่อยของโตโยต้า คัมรี่ โฉมนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบไปด้วยรุ่น L, LE, SE, XLE และ XSE โดยที่รุ่น LE, SE และ XLE เป็นคัมรี่เวอร์ชั่นไฮบริด และรุ่น XSE และ XLE จะเป็นคัมรี่ที่ติดตั้งขุมพลังเครื่องยนต์ 3.5 ลิตร V6

โตโยต้า คัมรี่ ในประเทศไทย งานเปิดตัวมีขึ้นวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ อิมแพค เมืองทองธานี การสื่อสารทางการตลาดของ Camry ใหม่ มีขึ้นภายใต้แนวคิด “The All-New Camry…Soul Striking Luxury”

ทางเลือกเครื่องยนต์จะประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ธรรมดา 2.5 ลิตร 4 สูบ ให้กำลังได้ 205 แรงม้า และเมื่อใช้ร่วมกับท่อ 4 รู จะให้กำลังสูงสุดได้ 208 แรงม้า และเครื่องยนต์ไฮบริด 2.5 ลิตร 4 สูบ ให้กำลังสูงสุด 212 แรงม้า และเครื่องยนต์ตัวท็อป 3.5 ลิตร วี 6 ให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้า

ชิ้นส่วนประกอบที่ใช้ร่วมกัน กับโตโยต้า คัมรี่ รุ่นก่อนๆ มีเพียงแค่สัญลักษณ์โตโยต้า บนกระจังหน้าและฝากระโปรงหลัง

โตโยต้า คัมรี่ โฉมนี้ จะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นแรก ที่ได้ใช้ระบบเอนโฟนเทนเมนต์ Entune 3.0 ที่สร้างบนพื้นฐานของ Linux และเป็นระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สสามารถให้นักพัฒนาโปรแกรมสามารถสร้างโปรแกรมที่สามารถใช้ร่วมกันกับระบบปฏิบัติการนี้ได้

ตัวเลือกระบบเกียร์ ประกอบไปด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ (CVT) สำหรับรุ่นไฮบริด และเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ สำหรับรุ่นเครื่องยนต์ 4 สูบ กับเครื่องยนต์วี 6

โตโยต้า คัมรี่ โฉมนี้ จะมีระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense เป็นมาตรฐานในทุกรุ่นย่อย ประกอบไปด้วย ระบบเรดาร์จับวัตถุ/คนด้านหน้า เรดาร์ตรวจจับความเร็วรถด้านหน้า ระบบเตือนการขับออกนอกเลน ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบอ่านป้ายจราจร ระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตา ระบบเตือนเมื่อมีวัตถุตัดผ่านขณะถอยหลัง และระบบเบรกอัตโนมัติเมื่อถอยหลัง

ในรุ่นนี้ มีรุ่นย่อยทั้งหมด 4 รุ่น ประกอบด้วย

  • รุ่น 2.0G ราคา 1,445,000 บาท
  • รุ่น 2.5G ราคา 1,589,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV ราคา 1,639,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV Premium ราคา 1,799,000 บาท

ราคาใหม่ ปรับเพิ่ม 10,000 บาท ทุกรุ่นย่อย มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป โดย Option เหมือนเดิมทุกประการ ประกอบด้วย

  • รุ่น 2.0G ราคา 1,455,000 บาท
  • รุ่น 2.5G ราคา 1,599,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV ราคา 1,649,000 บาท
  • รุ่น 2.5HV Premium ราคา 1,809,000 บาท

XV70 Minorchange (ปรับปรุงใหม่)

15 กรกฎาคม 2563 Toyota USA สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดแรกที่เปิดตัวรถรุ่นนี้ ได้มีการเปิดตัว Camry Minorchange ออกมาเป็นที่เรียบร้อย หลังจากทำตลาดมาได้ 3 ปีแล้ว การปรับเปลี่ยนคราวนี้ เน้นหลักไปที่การปรับเพิ่ม และ อัพเกรดอุปกรณ์ – ระบบความปลอดภัย ส่วนงานดีไซน์ภายนอกนั้น มีการปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต้องสังเกต ถึงจะแยกความแตกต่างได้

จากนั้นในเดือน พฤศจิกายน 2020 Toyota ยุโรป เปิดตัว Camry Minorchange ตามออกมา และ ตลาดญี่ปุ่น เปิดตัวในเดือน กุมภาพันธ์ 2021

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 Toyota ประเทศไทย ได้เปิดตัว Camry Minorchange อย่างเป็นทางการ โดยเอารุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ออกไปเป็นครั้งแรก และเริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร แทน พร้อมทั้งนี้ ยังเพิ่มสีตัวถังใหม่ คือสีเทา Metal Stream Metallic มาแทน สีน้ำตาล Phantom Brown – สีเงิน Silver Metallic และยังมีทางเลือกชุดแต่ง Modellista รอบคัน ของแท้จากญี่ปุ่น ให้เป็นทางเลือก โดยมีการปรับงานดีไซน์ภายนอก ภายในห้องโดยสาร เพื่อขยับตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้ดู Modern Sporty มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนอัพเกรดระบบความปลอดภัยขั้นสูงมาให้

โดยภายนอก ได้เปลี่ยนกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ , ชุดไฟหน้าและไฟท้ายเป็นแบบ Full-LED ทุกรุ่นย่อย , ล้ออัลลอยลายใหม่ทูโทน ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 235/45 R18 (ยกเว้นรุ่น 2.5 Sport ที่มีล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วลายใหม่พร้อมยาง 215/55 R17) เปลี่ยน ยางอะไหล่ Full Size ใน 3 รุ่น เป็น Temporary Tire (ยางรถอะไหล่ชั่วคราว) ขนาด T155/70 D17 และระบบเปิดประตูอัจฉริยะ Smart Entry ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า

ส่วนภายในห้องโดยสาร ได้เปลี่ยนวัสดุตกแต่งแผงหน้าปัดด้านหน้า คอนโซลกลาง วัสดุตกแต่งพวงมาลัย และแผงควบคุมกระจกหน้าต่าง เป็นแบบใหม่ , เปลี่ยนหน้าจอกลางเป็นแบบ Floating type ขนาดใหญ่ขึ้น 8 นิ้ว ในรุ่น 2.5 Sport 2.5 Premium 2.5 HEV Premium และ 9 นิ้ว ในรุ่น 2.5 HEV Premium Luxury พร้อมรองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto, ติดตั้งกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา Panoramic View Monitor (รุ่น 2.5 HEV Premium Luxury)

ในด้านระบบความปลอดภัย มีการอัพเกรดแพกเกจ Toyota Safety Sense TSS 2.0 เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด โดยติดตั้งมาให้ในรุ่น 2.5 Premium, 2.5 HEV Premium และ 2.5 HEV Premium Luxury โดยได้เพิ่มฟังก์ชั่นตรวจจับคนเดินเท้า และคนขี่จักรยาน ในระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS , เพิ่มระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LTA , เพิ่มระบบเตือนการชนหน้าและหลัง พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติขณะถอย ICS with RCTB และปรับการทำงานของระบบ DRCC เป็นแบบ All-Speed Range และลดความเร็วอัตโนมัติขณะเข้าโค้ง (Curve Speed Reduction) ระบบช่วยเตือนการชนด้านหน้าและหลัง พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ (Intelligent Clearance Sonar with Rear Cross Traffic Braking)

Toyota Camry Minorchange เวอร์ชั่นไทย จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 เครื่องยนต์ 4 รุ่นย่อย

  • รุ่น 2.5 Sport ราคา 1,475,000 บาท (เพิ่มขึ้น 20,000 บาท จากรุ่น 2.0G)
  • รุ่น 2.5 Premium ราคา 1,599,000 บาท
  • รุ่น 2.5 HEV Premium ราคา 1,659,000 บาท (เพิ่มขึ้น 10,000 บาท จากรุ่น 2.5HV)
  • รุ่น 2.5 HEV Premium Luxury ราคา 1,809,000 บาท

หมายเหตุ : สีขาว Platinum White Pearl ต้องจ่ายเพิ่ม 10,000 บาท และสีดำ Burning Black Crystal จะมีเฉพาะรุ่น 2.5 HEV Premium Luxury เท่านั้น

Camry 60th Anniversary (รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 60 ปี)

Toyota Camry 60th Anniversary รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 60 ปีโตโยต้าประเทศไทย มาพร้อมการตกแต่งพิเศษด้วยโทนสีดำขาว และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นรุ่นพิเศษเพื่อขอบคุณลูกค้าที่ให้โตโยต้าเติบโต เคียงข้างสังคมไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ผลิตจำนวนจำกัด 1,000 คัน (จำนวน 2 รุ่น) สีภายนอกขาวมุกหลังคาดำ เพิ่มความพิเศษด้วยการ Wrap ภายนอกด้วยฟิล์มลามิเนตคุณภาพระดับพรีเมียมสีเทา “Laminated Grey” ด้านข้างตกแต่งด้วยสัญลักษณ์รุ่น 60 ปี ปรับโฉมภายนอก และภายใน ให้มีเอกลักษณ์และทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มรุ่นละ 25,000 บาท จากราคาเดิม

  • รุ่น 2.5 Premium "60th Anniversary" ราคา 1,624,000 บาท (500 คัน)
  • รุ่น 2.5 HEV Premium Luxury "60th Anniversary" ราคา 1,834,000 บาท (500 คัน)

ความพิเศษของ Camry 60th Anniversary รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 60 ปี มีดังนี้

  • กระจกมองข้างสีดำเงา
  • คิ้วกระจังหน้าโครเมียม
  • วัสดุตกแต่งไฟตัดหมอกโครเมียมรมดำ
  • คิ้วตกแต่งฝาท้ายสีดำเงา
  • ล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว สีเทา
  • สัญลักษณ์รุ่น 60 ปี บริเวณแก้มด้านข้าง
  • วัสดุหุ้มเบาะสีดำ ตกแต่งด้ายสีแดง พร้อมสัญลักษณ์รุ่น 60 ปี
  • แผงประตูด้านข้างตกแต่งด้ายสีแดง
  • ที่วางแขนด้านข้างตกแต่งด้ายสีแดง
  • กล่องเก็บของที่คอนโซลกลางตกแต่งด้ายสีแดง
  • กล่องกุญแจ พร้อม Certificate, Apple Air Tag และพวงกุญแจสำหรับรุ่นฉลองครบรอบ 60 ปี
  • สิทธิ์ลุ้นเป็นเจ้าของรถสปอร์ต Toyota GR 86 จำนวน 1 คัน (มีคนโชคดีได้รับไปแล้ว)

นอกจากนี้ ยังมี Camry 60th Anniversary ที่ Wrap สี Laminated Grey ด้วยฟิล์มลามิเนต มูลค่า 57,000 บาท จำหน่ายเพียงโชว์รูมละ 1 คันเท่านั้น

Toyota ประกาศปิดตำนานกว่า 43 ปี ยุติขายรถ Camry ในตลาดญี่ปุ่น

   Toyota ประกาศปิดตำนานกว่า 43 ปี ยุติขายรถ Camry ในตลาดญี่ปุ่น หลังยอดขายปี 2022 ต่ำกว่า 6,000 คัน แต่ยังคงจำหน่ายในตลาดต่างประเทศต่อไป เพราะสหรัฐ จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงนิยมรถรุ่นดังกล่าว
   บริษัท Toyota Motor ได้ประกาศเตรียมแผนยุติการจำหน่ายรถยนต์รุ่น Camry ในตลาดญี่ปุ่น หลังจากเปิดขายมากว่า 43 ปี ซึ่งได้แจ้งตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่นแล้วว่าจะยุติการผลิต Camry สำหรับลูกค้าในประเทศภายในสิ้นปี 2023 นี้ แต่จะยังดำเนินการผลิตเพื่อการส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศต่อไป การขายรถรุ่น Camry ในประเทศญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงเป็นระยะ และ Toyota ได้หยุดรับคำสั่งซื้อใหม่เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งรถ Camry รุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาจะจัดจำหน่ายเฉพาะในตลาดต่างประเทศเท่านั้น สำหรับเหตุผลในการประกาศยุติการจำหน่ายรถ Camry ในญี่ปุ่น มาจากยอดจำหน่ายที่น้อยกว่า 6,000 คันในปีที่แล้ว เนื่องจากขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตรถรุ่นดังกล่าว อีกทั้งรถ SUV และรถ Mini Van ได้รับความนิยมมากขึ้นเพื่อทดแทนความต้องการรถเก๋งซีดาน ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมานั้น ทาง Nissan Motor เอง ยังได้ยุติการผลิตรถรุ่น Fuga ขณะที่ Honda Motor ได้ยุติการผลิตรุ่น Legend เช่นกัน
   ทั้งนี้ รถเก๋งซีดานแบบ 4 ประตูส่วนใหญ่ของ Toyota เช่นรุ่น Corolla และ Camry จะผลิตในสหรัฐอเมริกา จีน และโรงงาน Tsutsumi ในจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น 
   โดยรถรุ่น Camry ถือเป็นรถยนต์เชิงกลยุทธ์ระดับโลกของ Toyota ซึ่งชื่อ Camry มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “มงกุฎ” ยอดจำหน่ายรถรุ่น Camry ในญี่ปุ่นนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1980 มีอยู่ราว 1.3 ล้านคัน ซึ่งราคารถซีดานที่จำหน่ายในญี่ปุ่นนั้นจะมีราคาระหว่าง 3.49-4.68 ล้านเยน หรือราว 26,400-35,450 เหรียญสหรัฐฯ
   ขณะเดียวกันรถรุ่นนี้ได้จำหน่ายไปยังกว่า 100 ประเทศ โดยมียอดซื้อสะสมมากกว่า 21 ล้านคันจนถึงสิ้นปี 2565 อ้างอิงจากข้อมูลของ MarkLines ผู้ให้บริการข้อมูลรถยนต์ของ Toyota ย่างไรก็ตาม Camry ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียอดขายมากกว่า 13 ล้านคัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันชื่นชอบ Camry ในด้านความน่าเชื่อถือ ความสะดวกในการใช้งาน และการตกแต่งภายในที่กว้างขวาง 
   Camry ได้รับการจัดอันดับให้เป็นรถยนต์นั่งที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันจนถึงปี 2016 Camry เป็นที่รู้จักในฐานะรุ่นยอดนิยมเนื่องจากมีมูลค่าการขายต่อที่ค่อนข้างสูงในตลาดรถยนต์มือสอง
   ในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Camry ถูกมองว่าเป็นรถยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจสำหรับภาพลักษณ์ระดับไฮเอนด์
   อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถ Toyota รุ่น RAV4 จะคว้ายอดขายในสหรัฐอเมริกาแซงหน้า Camry ในปี 2017 เนื่องจากรถยนต์อเนกประสงค์แบบสปอร์ตได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ Camry ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยอดขายรถซีดานทั่วโลกในปีที่แล้วมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 600,000 คัน

Gallery

Camry
ไดฮัตสุ อัลติส

XV80 หรือ 9th Generation (พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน)

Toyota Camry โมเดลเชนจ์ใหม่ เป็นเจเนเรชั่นที่ 9 รหัสตัวถัง XV80 มีหน้าตาและการออกแบบใหม่หมดจรดทั้งคัน โดยยังคงพื้นฐานเดิม กับเครื่องไฮบริด 2.5 ลิตร คาดมาขายไทยปลายปี 2567 รุ่นเปลี่ยนโฉมนี้ นับเป็นรุ่นที่ 9 รหัสตัวถัง XV80 ถึงจะมีตัวเลขรหัสเพิ่มเป็นเจเนเรชั่นใหม่ แต่ยังคงพื้นฐานวิศวกรรม TNGA-K แบบเดิม นำมาครอบตัวถังทรงใหม่หมด ทำให้รูปทรงโดยรวมยังคงเป็นซีดานสัดส่วนแบบ 3 กล่อง ผสมธีมการออกแบบใหม่ที่ปรับเปลี่ยนให้ดูเพรียวบางขึ้น ในสหรัฐพร้อมขายแล้วในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ส่วนประเทศไทยนั้น คาดว่าจะมาเร็วในปี 2024 เช่นกัน แต่เป็นช่วงปลายปีหน้า ซึ่งเป็นเวลาครบอายุการตลาดในไทยพอดี

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

  • ข้อมูล โตโยต้า คัมรี่ โฉมที่ 7 รุ่น 2.4 Hybrid โดย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  • ข้อมูล โตโยต้า คัมรี่ โฉมที่ 7 รุ่น 2.0E ,2.0G ,2.4G โดย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  • ข้อมูล โตโยต้า คัมรี่ โฉมที่ 7 รุ่น 3.5Q โดย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  • ทดลองขับ คัมรี่ โฉมที่ 7 รุ่น 3.5Q โดย Caronline.net เก็บถาวร 2009-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ทดลองขับ คัมรี่ โฉมที่ 7 รุ่น 2.4 Hybrid โดยคุณ J!MMY แห่ง http://www.headlightmag.com เก็บถาวร 2010-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

Text submitted to CC-BY-SA license. Source: โตโยต้า คัมรี่ by Wikipedia (Historical)