Aller au contenu principal

กบฏดุซงญอ


กบฏดุซงญอ


กบฏดุซงญอ (มลายูปัตตานี: ปือแร ดุซงญอ แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้" หรือ "สงครามดุซงญอ" (Dusun Nyor Rebellion) เป็นเหตุการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาวมุสลิมไทยเชื้อสายมลายู ระหว่าง 25 – 28 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังเหตุการณ์ มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ แต่อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

เหตุการณ์กบฏนี้ ได้มีผู้กล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ "กรณีกรือเซะ" เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 108 ศพ ซึ่งวันนั้นเป็นวันครบรอบ 56 ปีเหตุการณ์

การก่อตัว

ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม เห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุนตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง

เหตุการณ์ในพื้นที่

การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรก คือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่ราษฎรรู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกตน อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นประจำ แต่พวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่แล้ว ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี

ลำดับเหตุการณ์ในพื้นที่เป็นดังต่อไปนี้

  • 24 เมษายน เจ้าหน้าที่รัฐได้รับรายงานว่า หะยีสะแมงฟันนายบุนกี (จีนเข้ารีตอิสลาม) ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • 25 เมษายน ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองรวม 4 นาย เข้าไปตรวจเหตุการณ์ในหมู่บ้าน ถูกพวกก่อจลาจลราว 30 คนถือดาบไล่ฟัน จนต้องหนีออกจากหมู่บ้าน
  • 26 เมษายน
    • ตอนเช้า ตำรวจราว 28 นาย นำโดย ร.ต.อ. บุญเลิศ เลิศปรีชา ยกเข้ามาที่ตลาดดุซงญอและส่งตำรวจ 4 นาย คือ สิบตรีสง รุ่งเรือง พลฯสมัคร ประดิษฐ์ สุวรรณภักดี พลฯสมัคร บุญ กล้าหาญ และพลฯสมัคร สมศักดิ์ แหวนสำริด ไปเป็นกองล่อให้ฝ่ายจลาจลแสดงตัว ผลปรากฏว่าฝ่ายจลาจลมีกำลังมากกว่า ฝ่ายตำรวจต้องล่าถอย ตำรวจที่เป็นกองล่อทั้ง 4 นายเสียชีวิตทั้งหมด
    • ตอนค่ำ กำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดยะลา 20 นาย จังหวัดปัตตานี 30 นาย อำเภอสุไหงปาดี 8 นาย ยกมาสมทบและรวมกำลังกันที่ตำบลกรีซา 1 คืน
  • 27 เมษายน กำลังตำรวจจากจังหวัดสงขลาอีก 20 นาย มาถึงตำบลกรีซา เริ่มยกพลเข้าหมู่บ้านดุซงญอ ปะทะกับพวกจลาจล ยิงโต้ตอบกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายตำรวจจึงล่าถอย ระหว่างถอย พลฯสมัคร วิน ไกรเลิศถูกฝ่ายจลาจลยิงเสียชีวิต
  • 28 เมษายน กำลังตำรวจเข้าโจมตีหมู่บ้านดุซงญออีกครั้ง และปราบปรามฝ่ายจลาจลได้เด็ดขาด

ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพันเพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอม ขับไล่ตำรวจลงมา ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ

อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเอกสารของฝ่ายใด เอกสารของรัฐบาลไทยกับเอกสารที่เขียนโดยชาวมลายูให้ข้อมูลที่ต่างกันทั้งวันที่เกิดเหตุการณ์และจำนวนชาวบ้านดุซงญอผู้เสียชีวิต แต่จำนวนตำรวจที่เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ราว 30 ศพ

ยอดผู้เสียชีวิต

สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์

ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล

จอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ โดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการ และ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจังหวัดนราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน

คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ แจ้งว่าการจลาจลเกิดจากความเข้าใจผิด ราษฎรมาชุมนุมกันมากเพื่อเข้าร่วมพิธีทางไสยศาสตร์ จนเป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าตรวจค้น ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการปะทะกัน เนื่องจากพบว่าคนในพื้นที่ไม่พอใจมาก อับดุลลา หวังปูเต๊ะ เสนอให้เชิญตนกู มะไฮยิดดินเข้ามาปรึกษาในกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำตาม

ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่

ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า

...ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น...

ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 – 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์

การอพยพของคนไทยเข้าสู่มาลายายังเกิดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามาลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป

ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ

นายแพทย์เจริญ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี และบรรจง ศรีจรูญ ประธานสันนิบาตไทยอิสลาม ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวไทยในมุสลิมให้ดีขึ้น ขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหลักการไว้พิจารณา

ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมาลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด

ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมาลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมาลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมาลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น

การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มาลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ

อนุสาวรีย์ลูกปืน

อนุสาวรีย์ลูกปืนเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏดุซงญอแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สร้างเป็นรูปลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 3 ชั้น สูง 36, 30, และ 30 เซนติเมตรตามลำดับจากล่างขึ้นบน ตัวกระสุนปืนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร ส่วนปลอกกระสุนสูง 150 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมในส่วนใกล้หัวกระสุนซึ่งสูง 25 เซนติเมตร รวมความสูงของกระสุนปืน 245 เซนติเมตร กล่าวกันว่ามีการบรรจุอัฐิ​ของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏดุซงญอไว้ภายใน

อ้างอิง

Collection James Bond 007

บรรณานุกรม

  • เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. มติชน. 2547
  • ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน: ดุซงญอ-นราธิวาส 2491. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 (9), กรกฎาคม 2547. หน้า 132–150
  • ปิยนาถ บุญนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475 - 2516). กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2534. หน้า 104–105
  • วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. พิมพ์ครั้งที่ 2. ร่วมด้วยช่วยกัน. 2548
  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. สันติภาพในเปลวเพลิง. กทม. เนชั่นบุกส์. 2547
  • อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง. ดูซงญอ ฤๅคือกบฏ. ทางนำ. ตุลาคม 2543. หน้า 7
  • อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี แปลและเรียบเรียงโดย หะสัน หมัดหมาน มะหามะซากี เจ๊ะหะ และ ดลมนรรจ์ บากา. ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี. 2541 หน้า 53-54
  • อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กทม. อิสลามิคอะคาเดมี. 2538. หน้า 161
  • Malek, Mohd Zamberi A. Umat Islam Patani: Sejarah dan Politik. Shah Alam: Hizbi. 1993 p. 210-211 (มลายู)
  • Mahmad, Nik Anuar Nik. Sejarah Perjuangan Melayu patani 1785 - 1954. Bengi: Penerbit University kebangsaan Malaysia. 1999. p.77 (มลายู)
  • Syed Serajul Islam. The Islamic Independence Movements Patani of Thailand and the Mindanao of the philippines. Asian Survey. vol. XXXVIII No.5 (May 1998) p. 446 (อังกฤษ)

Text submitted to CC-BY-SA license. Source: กบฏดุซงญอ by Wikipedia (Historical)

Articles connexes


  1. ประเทศไทยใน พ.ศ. 2491
  2. รายชื่อการสังหารหมู่ในประเทศไทย
  3. สุรียานี อับดุลเลาะห์
  4. 26 เมษายน
  5. 25 เมษายน
  6. 28 เมษายน
  7. 27 เมษายน
  8. อาณาจักรปตานี
  9. พ.ศ. 2491
  10. มัสยิดกรือเซะ
  11. หะยีสุหลง
  12. ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
  13. ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)
  14. รายชื่อภัยพิบัติและอุบัติเหตุในประเทศไทย
  15. ประวัติศาสตร์ไทย
  16. รายชื่ออุบัติเหตุและภัยพิบัติแยกตามจำนวนผู้เสียชีวิตในไทย